เคยเจอ # หรือที่เขาเรียกว่า Hashtag กันบ่อยๆ ในช่วงนี้ ขนาดในคอลัมน์เกาเหลาทิปเล่มนี้ยังเจอเลย อิอิ ความจริงแล้ว # มีใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แต่ถูกใช้เพื่อการเขียนโปรแกรมภาษาแอสเซมบลี และ ภาษาซี (C Language) จาว่า (Java)ต่อมาในยุค 90′ก็เริ่มเข้ามามีส่วนช่วยในโปรแกรมแชตยุคนั้นอย่า IRC โดยใช้เพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นช่อง (Channel) หรือ กรุ๊ป (Group) จนล่าสุด twitter ก็เริ่มดึง # กลับมาใช้เพื่อเป็นการระบุหัวข้อที่ทุกคนต้องการพูดถึง เช่นช่วงที่ทุกคนสนใจเรื่องของโค้ชเช แล้วอยากจะร่วมวิพากษ์วิจารย์ ก็ทวิตข้อความรู้สึก ก่อนจะติด #โค้ชเช เพื่อระบุว่าฉันกำลังทวิตพูดถึงเรื่องนี้นะตัวเอง
Hashtag เปรียบเสมือนเป็นคำค้นหาหลัก หรือ ที่เรียกกันว่าคีย์เวิร์ด (Keyword) ที่ใช้เพื่อค้นหา กลุ่มคน กลุ่มเพื่อนที่ต่างมีความสนใจเหมือนกัน เรื่องเดียวกัน ด้านเดียวกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน อารมณ์เดียวกัน อยู่สถานที่เดียวกัน ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ใช้บริการที่เดียวกัน และอื่นๆ อีกมากมาย เกินกว่าจะบรรยาย จะสังเกตุได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเลยคือจะลงท้ายด้วยคำ # เดียวกัน
เอ… แล้วจะเอา Hashtag ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง? คำตอบมีเยอะเลย ได้แก่
• เอาไว้ทำ Meme: การทำ Meme ก็คือการสร้างกระแส (Trends) ในระยะสั้นๆ รายวันไม่ได้ความหมายพิเศษลึกซึ้ง เช่น #เหงาจุงเบย ก็แค่บอกว่าเหงา วันนี้เหงา พอพรุ่งนี้หายเหงาก็เปลี่ยนไปใช้คำอื่น พอเดือนหน้าเหงาอีกก็เอากลับมาใข้อีก
• ใช้สร้างการจดจำแบรนด์ : บางแบรนด์ที่หันมาเล่น Social Network ในการทำการตลาด ก็จะใช้ Hashtag ในการช่วยกระจายชื่อแบรนด์ โดยอาจทำเป็นกิจกรรมลุ้นของรางวัลแต่มีข้อแม้ว่าคนตอบต้องตอบผ่านทวิตเตอร์แล้วติดแท็กหรือ # ตามที่กำหนด
• ปั่นหรือวัดกระแสละครในช่วงออกอากาศ: โดยเฉพาะละครหลังข่าว เดี่ยวนี้มักใช้เป็นช่องทางโปรโมทวัดกระแสเรตติ้งให้ละครซีนีย์ เช่น #HormonesTheSeries ที่สามารถวัดยอดการชมได้แบบ realtime กันเลยทีเดียว
• สร้างกระแสสังคม หลายแท็กช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น #thaiflood ที่ช่วยให้เกิดการตื่นตัวเรื่องน้ำท่วม