“Thailand National Cyber Week 2023” ครั้งแรกของไทย เร่งพัฒนาขับเคลื่อนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มศักยภาพหนุนปกป้องประชาชนและประเทศ

ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดพิธีเปิดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร เร่งพัฒนาขับเคลื่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

เพื่อพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการและสร้างมาตรการและกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ สร้างเครือข่ายและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในการป้องกัน รับมือ ลดความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ รวมถึงปกป้องเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า ในโลกปัจจุบันการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก จากผลสำรวจของ National Cyber Security Index หรือ NCSI ได้จัดอันดับความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 41 จากทั้งหมด 161 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน วัดจากความสามารถในการจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยได้คะแนนการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ 100 % ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกมช. ได้ให้ความสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมีการกำหนดนโยบายในการเตรียมความพร้อมและการขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การจัดทำกฎหมายลำดับรอง การส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ การเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดแนวคิดในการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้คำขวัญที่ว่า Secure your cyber, Secure your future” การปกป้องโลกไซเบอร์ ก็เป็นการปกป้องอนาคตของคุณด้วยเช่นกัน  อีกทั้ง  ยังจะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับ

ดูแล  หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยี และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศ และสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเผยแพร่และสื่อสาร เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงจะได้ร่วมกันบูรณาการความรู้และใช้ประโยชน์จากงานในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องตนเองและต่อยอดธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัย
ไซเบอร์พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วนในการแข่งขันกับต่างประเทศและภัยคุกคามในอนาคตต่อไป

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ     (สกมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เป็นหน่วยงานที่มุ่งขับเคลื่อนการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศที่มีประสิทธิภาพ พร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ทุกมิติ รวมไปถึงนโยบายในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ให้มีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศและประชาชนมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็ง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัย   ไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ซึ่งเดือนพฤศจิกายน 2565  ถึงต้นกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สกมช. ได้จัดให้มีการเสวนาด้านความมั่นคงปลอดภัยผ่าน Webinar จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 การเสวนา “NCSA Virtual Summit:  Cybersecurity & Privacy Trends” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำให้กับผู้ที่สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและแนวโน้มของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต,  ครั้งที่ 2 การเสวนา NCSA Virtual Summit: แนวโน้มและแผนการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ของไทยปี 2566 (Cybersecurity Certificates & Careers) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และครั้งที่ 3 การประชุมออนไลน์ (Virtual Conference) NCSA Thailand National Cyber Week 2023 ซึ่งรวมหัวข้อการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางและนวัตกรรมล่าสุดด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลกว่า 10 หัวข้อ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยภายในงานนี้จะมีการแสดงนิทรรศการผลงานงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยบริษัทสตาร์ตอัป นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทย การให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมกับการประชุม-สัมมนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยการนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยจากบริษัทและหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 80 บริษัท มาร่วมกัน อับเดตภัยคุกคาม

ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ Cybersecurity & Privacy Trends ในปี 2023 และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าสุดที่หน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจควรตระหนักรู้ รวมถึงประเด็นด้านไซเบอร์ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 เช่น กฎหมายด้านไซเบอร์ การเปลี่ยนผ่านสู่ Cyber Resilience, Cyber Risk VS. Digital Risk และ Digital Divide VS. Digital Inequality Enter รวมถึงการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์/บริการและบริษัทที่สนใจนำผลิตภัณฑ์/บริการมาจัดจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้ พบกับมิติใหม่ของมหกรรมรับสมัครงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Job Fair) เปิดโอกาสในการสมัครงานแบบไร้ข้อจำกัดกับองค์กรที่มีคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำที่จะเปิดบูธรับสมัครงานรวมกว่า  10  ราย และพบกับชหัวข้อสัมมนาเพื่ออัปเดตแนวโน้มตลาดแรงงานด้าน Cybersecurity ของไทย ไขข้อข้องใจว่าสายงานด้านไหนที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนักศึกษาที่จบใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ใบรับรอง และทักษะสำคัญใดที่ควรมีเพื่อให้เป็นที่สนใจของเหล่า HR รวมถึงร่วมฟังการเสวนาและแชร์ประสบการณ์กับเหล่าบริษัทไอทีชั้นนำ และสถาบันฝึกอบรมและออกใบรับรองระดับโลก อีกทั้งการเสวนาด้านความมั่นคงปลอดภัยโดย สกมช. และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานความมั่นคงภาครัฐ บริการสำคัญภาครัฐ สาธารณสุข การเงินการธนาคาร พลังงาน และขนส่งโลจิสติกส์
ที่มาร่วมให้ความรู้ในการรับมือด้านความมั่นคงปลอดภัย

กิจกรรมที่สำคัญที่พลาดไม่ได้จริง ๆ กับการสาธิตวิธีการ “รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์”  พร้อมเทคนิควิธีการทางการตลาดของเหล่ามิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงประชาชนบนโลกออนไลน์ ในเวทีของ สกมช. Live Hacking Demo: “แอปดูดเงิน VS เจาะระบบองค์กรขนาดใหญ่” ชม Live Hacking Demo: “ลองเป็นเหยื่อแอปดูดเงินเพื่อถอดรหัสโจร” เพื่อจะได้รู้เท่าทันป้องกันเงินในกระเป๋าของเรา และ “เจาะช่องโหว่ระบบ Active Directory ขององค์กรขนาดใหญ่” สัมผัสประสบการณ์พร้อมเรียนรู้พื้นฐานการเจาะระบบและการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย (Ethical Hacking & Security) เบื้องต้น จากหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอันดับต้น ๆ ของไทย เปิดโอกาสสำหรับก้าวแรกสู่สาย Offensive Security และร่วมสนุกในเกมการแข่งขันทำโจทย์ตะลุยด่านด้าน Cybersecurity ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท พร้อมรับประกาศนียบัตรจาก สกมช. และเปิดเวทีให้บริษัทสตาร์ตอัปและสถาบันการศึกษานำผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์มานำเสนอโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนัก รู้ตื่นตัว  เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์   เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามไซเบอร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อีกด้วย