[อนาคตยานบิน] ยังคงพัฒนาไม่หยุดยั้งกับวงการ VTOL และ eVTOL ยานบินหรือเครื่องบินแนวดิ่ง ที่บินขึ้นได้แม้ไม่มีรันเวย์ และจะเป็นอย่างไร หากตัวเครื่องบินไม่มีทั้งปีกทั้งใบพัดเลย แต่สามารถขับเคลื่อนได้เร็ว และแทบไม่ส่งเสียง
พบกับ J-2000 เครื่องบินไร้ปีกไร้ใบพัดจาก Jetoptera บริษัทสตาร์ทอัพไฟแรง โชว์แนวคิด VTOL แบบใหม่ ที่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วสูงสุดถึง 321 กม./ชม
จากสัดส่วนของประชากรโลก โดยเฉพาะชาวเมืองที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เองทาง Jetoptera จึงได้ออกแบบเครื่องบิน VTOL ขนาดย่อม สามารถบินในเมืองได้แบบไม่ส่งเสียงรบกวนจนเกินไป ทั้งยังปลอดภัยด้วยดีไซน์ตัวเครื่องแบบไม่มีปีกและใบพัด
เนื่องจากไม่มีใบพัด ตัวเครื่องบินจึงใช้ Fluidic Propulsion System (FPS) ระบบการบินแบบใหม่แทนที่ โดยทาง Jetoptera ระบุเลยไว้ว่า
ตัวระบบจะใช้เครื่องยนต์ที่ฝั่งอยู่ในส่วนปลายของเครื่องบิน จากนั้นจะทำการดูดลมเข้าผ่านด้านหน้าของทรัสเตอร์ (Thruster) ที่มีลักษณะเป็นกรอบรูปวงรีขนาดใหญ่ ติดตั้งตรงส่วนปลายทั้งสองข้าง แรงลมที่ถูกดูดจากด้านหน้า ก็จะถูกปล่อยออกไปด้านหลัง จนทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนขึ้นมา
ทั้งนี้ตัว Thruster นอกจากจะช่วยทำให้ตัวเครื่องบินในแนวราบได้แล้ว ยังช่วยทำให้ตัวเครื่องลอยจากพื้น แล้วส่งตัวเองบินขึ้นแบบไม่ต้องใช้รันเวย์หรือทางลาดยาวแบบเครื่องบินปกติด้วย
จุดสำคัญของระบบ FPS คือ [ความเงียบ] และ [ปลอดภัย] ถามว่าเงียบขนาดไหน ทางบริษัทบอกเลยว่าเงียบในระดับที่ อยู่ใกล้ตัวเครื่องเพียง 200 ฟุต หรือประมาณ 60 เมตร ถึงจะเริ่มได้ยินเสียง ส่วนปลอดภัยนั้น ก็มาจากการที่ไร้ใบพัดหรือส่วนที่หมุนได้นั้นเอง
ด้านพลังงานนั้น ก็ใช้ [แก็ส] ในการขับเคลื่อนเป็นหลัก (มีแบตฯ แต่เอาไว้ใช้สำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เท่านั้น) ส่วนนี้ทางบริษัทระบุเลยว่า ปัจจุบันยังไม่มีแบตฯ ชนิดไหน ที่ทรงพลังพอจะขับเคลื่อนคนหรือบรรทุกสินค้าได้
[ถ้าจะให้เราพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าหรือ eVTOL ก็ต้องมีคนคิดค้นแบตฯ ที่ดีกว่านี้ก่อน] Andrei Evulet ซีอีโอ Jetoptera กล่าว
อย่างไรก็ตาม J-2000 ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งเผยโฉมมาได้ 2 ปีแล้ว โดยตอนนี้ตัวรุ่นแรกอย่าง J-2000 จะให้ความเร็วได้ระดับ 322 กม./ชม. สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ตั้งแต่ 450 ถึง 800 ปอนด์
รุ่นถัดไปจะทำได้กว่า 600 กม./ชม. และบินได้ไกลถึง 644 กม. สุดท้ายจะเป็นรุ่นสำหรับใช้ในทางการทหาร รุ่นนี้จะมีความเร็วระดับ Mach 0.8 หรือประมาณ 988 กม./ชม !! เร็วเกือบเทียบเท่ากับเครื่องบิทเจ็ท ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างทดสอบกับโมเดลจำลอง
[แบบจำลองเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถทดสอบโครงเครื่องบิน และระบบขับเคลื่อนตามเป้าหมายได้ เราหวังว่าภายในปี 2026 จะมีตัวต้นหลาย ๆ ลำ ที่สามารถบรรทุกคนได้แล้ว] Andrei Evulet กล่าวทิ้งท้าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://jetoptera.com/
ที่มา : Bigthink