ก่อนจะไปเรื่องของ AI เนอะ ผมปูเรื่องอุตสาหกรรมข้าวสั้น ๆ ให้ฟังกันก่อน จะได้เข้าใจง่ายขึ้นนะ
ไทยถือเป็นประเทศติด Top 3 ที่ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลก และมูลค่าของข้าวไทยนั้นเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่อินเดียเท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของข้าว ก่อนที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งเรื่องของขนาดเมล็ด พันธุ์ข้าวเจือปน เมล็ดข้าวที่แตกหัก และอื่น ๆ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปกติแล้วในการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดข้าว เราใช้คนในการนั่งคัดเมล็ดข้าวเพื่อคำนวนปริมาณเปอร์เซ็นต์ว่า ข้าวมีความสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด โดยเจาะสุ่มข้าวสารจากหลาย ๆ กระสอบเพื่อมารวมกัน จากนั้นคนคัดจะสุ่มเมล็ดขึ้นมาจำนวน 100 เมล็ด แล้วคัดแยกทีละเม็ด เพื่อดูว่าเมล็ดข้าวสมบูรณ์ขนาดไหน เช่น ข้าวหอมมะลิเกรดส่งออก จะต้องมีเมล็ดที่สมบูรณ์ไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ใน 100 เมล็ด ถ้ามีเมล็ดที่แตกไม่เกิน 5 เมล็ด ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
แต่วิธีการใช้คนคัด แม้จะเป็นคนที่มีประสบการณ์หลายปี ก็ต้องใช้เวลามากถึง 20-30 นาที และอาชีพนี้มีค่าตอบแทนค่อนข้างต่ำมาก ๆ จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มที่จะไม่สนใจเป็นพนักงานคัดเมล็ดข้าวแล้ว (เอาจริง ๆ เป็นงานที่ยากนะ ต้องเพ่งสายตาทั้งวัน ทำไมได้ค่าแรงต่ำจัง) และนี่ก็คือโจทย์ว่า เราจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ยังไงได้บ้างครับ
บริษัท Easy Rice สตาร์ทอัพของไทยที่ได้ไปโลดแล่นในเวทีโลกพร้อมกับคว้ารางวัลต่าง ๆ มามากมาย พวกเขาได้ทำ AI ขึ้นมาเพื่อแก้ Painpoint ในอุตสาหกรรมข้าว เพื่อทำให้การตรวจสอบคุณภาพของข้าวทำได้รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยลง และทำเกิดความยุติธรรมมากขึ้น
วิธีการคือ ในการตรวจสอบเมล็ดข้าว AI จำเป็นต้องมีข้อมูลภาพที่มีความละเอียดสูงระดับหนึ่ง พวกเขาใช้สแกนเนอร์ที่มีขายตามท้องตลาด แต่นำมา Customize เพิ่ม เพื่อให้การสแกนภาพเมล็ดข้าว มีความคมชัด และยิ่งมีความคมชัดมากเท่าไหร่ ความแม่นยำของ AI ก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความแม่นยำอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ครับ
เมื่อได้ภาพสแกนที่คมชัดแล้ว ผู้ใช้สามารถอัปโหลดภาพไปที่ระบบ AI ของ Easy Rice ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ จากนั้นทำการเลือกโจทย์ว่า ข้าวที่ใส่ลงไปเป็นข้าวอะไร เช่น ข้าวหอมมะลิ และพอเป็นข้าวหอมมะลิ ต้องการความเข้มงวดตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ในระดับไหน ก็กดเลือกครับ ซึ่งเกรดส่งออกข้าวหอมมะลิ ต้องเป็นข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อกำหนดโจทย์ได้แล้ว AI จะทำการคัดแยกเมล็ดทีละเมล็ดแบบรวดเร็ว แต่ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ก็จะได้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้ค้าข้าว หรือผู้รับซื้อข้าวครับ
AI มีความฉลาดพอที่จะสามารถแยกได้ว่า ข้าวที่เรานำไปโปรยใส่เครื่องสแกนมีทั้งหมดกี่เมล็ด น้ำหนักทั้งหมดกี่กรัม มีข้าวหักทั้งหมดเท่าไหร่ แยกเป็นข้าวหักเล็ก , ข้าวหักใหญ่ , ข้าวท้องไข่ (ข้าวที่หุงสุกยาก เพราะมีตรงกลางเมล็ดเป็นส่วนที่แข็ง ) รวมทั้งยังสามารถคัดแยกสีของเมล็ด เมล็ดขัดสีมานาน จะมีสีเหลือง นั่นคือข้าวเก่า ข้าวค้างปี ซึ่งจะทำให้ขายไม่ได้ราคา และต่างประเทศไม่รับซื้อครับ
นอกจากคัดแยกข้าวสารแล้ว ยังเป็นระบบแรกที่สามารถคัดแยกพันธุ์ข้าวเปลือกได้อย่างแม่นยำ สามารถดูได้ว่าเป็นข้าวเปลือกสมบูรณ์ไหม มีหนอนเจาะไหม เมล็ดหักหรือขาดไหม หรือมีพันธุ์ข้าวอื่นสอดไส้มาหรือเปล่า
ปัจจุบัน Easy Rice ให้บริการระบบ AI ดังกล่าวกับบริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมค้าข้าวแบบเช่าใช้รายเดือน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบัน ยังมีเพียงเอกชน ที่ใช้งานอยู่ แต่ผู้บริหารเล่าว่า เขาตั้งใจจะผลักให้ระบบดังกล่าว สามารถเข้าถึงชาวนาที่เป็นผู้ผลิตข้าวจากต้นทาง โดยอาจจะรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อขอใช้บริการ ซึ่งนั่นคือแผนในอนาคตครับ
ซึ่งเมื่อมีข้อมูลที่ระบุได้ชัดเจนแล้ว การกำหนดราคาข้าว จะทำได้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น ลดการผูกขาด ชาวนาไม่โดนเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน และในแง่อีกมุมหนึ่ง ผู้ค้าข้าวปลีกข้าว สามารถมั่นใจได้ว่าการรับซื้อข้าวด้วยราคายุติธรรม จะไม่โดนสอดไส้ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง หากนำไปส่งออกหรือบรรจุขายครับ