เอาตัวรอดในอวกาศ พบเทคนิคดึงออกซิเจนจากน้ำ ช่วยมีชีวิตอยู่ได้ ในสภาวะไร้น้ำหนัก

ปัจจุบัน ดาวเคราะห์ดวงอื่นคือสถานที่แห่งใหม่ที่หลายประเทศ พยามเข้าไปจับจองพื้นที่มากขึ้น เพราะเชื่อว่าโลกเรากำลังเสื่อมลงเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่น้อยลง

แต่การไปอวกาศมีต้นทุนที่สูงมาก จึงมีแค่ประเทศใหญ่ ๆ ที่มีต้นทุนในการคิดค้นและผลิตเทคโนโลยีที่ทำให้พวกเขาอาศัยอยู่ในห้วงอากาศได้ โดยสิ่งสำคัญอย่างมากในการอยู่อาศัยคืออากาศและน้ำ

ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ของ NASA เปิดเผยรายงานใหม่ว่า พวกเขาสามารถ ดึงออกซิเจนออกมาจากน้ำได้ในสภาวะที่ไร้น้ำหนักเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะทำให้การเดินทางในอวกาศเป็นเรื่องง่ายขึ้น

Álvaro Romero-Calvo หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายว่า โดยปกติแล้ว หากเป็นในสถานีอวกาศนานาชาติ ออกซิเจนจะถูกสร้างขึ้นโดยใช้เซลล์อิเล็กโทรไลต์ที่แยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน

แต่ความยากลำบากในการดึงออกซิเจนในอวกาศ คือการที่อวกาศ ไม่มีแรงโน้มถ่วงเหมือนบนโลก ลองนึกถึงฟองอากาศของ C02 ในขวดโซดา ที่พยายามลอยขึ้นหลังจากที่เราเปิดขวด นั่นเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วงของโลกครับ แต่ในอวกาศ ฟองอากาศเหล่านี้ยังคงลอยอยู่ในของเหลว ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถสกัดได้ แต่ต้องใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้แรงหมุนเหวี่ยงที่ยุ่งยากและมีราคาแพง

แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ในการแยกฟองแก๊สออกจากของเหลวต่าง ๆ เช่นน้ำ โดยใช้แม่เหล็กนีโอไดเมียม (แม่เหล็กถาวร) และสามารถทำออกมาได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งสามารถดูดและขับฟองก๊าซต่าง ๆ ออกมาในสภาวะไร้น้ำหนักได้แล้ว นั่นแปลว่า ต้นทุนในการผลิตก๊าซออกซิเจนในอวกาศจะลดลงอย่างมาก

ทีมงานกล่าวว่า ความก้าวหน้านี้อาจนำไปสู่ระบบช่วยชีวิตรุ่นใหม่สำหรับยานอวกาศรุ่นต่อไป และเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่สามารถช่วยให้ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารได้มากขึ้นครับ

ที่มาข้อมูล

newatlas