ESRI เผย Location Intelligence อาวุธลับเสริมกลยุทธ์เพิ่มโอกาสธุรกิจ

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ จากความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ArcGIS ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี เผยข้อมูลจาก Market Analysis Report ว่าตลาดของ Location Intelligence ทั่วโลกในปี 2562 มีมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ถึง 15.2% ในช่วงปี 2563 – 2570 โดยจากรายงานของ Forbes พบร้อยละ 53 ของผู้ประกอบการมอง Location Intelligence เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ ควบคู่กับการใช้ Big Data ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ เห็นมุมมองทางธุรกิจได้ชัดเจน และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที นับเป็นกุญแจการพัฒนาธุรกิจในยุคที่ปัจจัยแวดล้อมผันผวนและเปลี่ยนรวดเร็ว เผยอีเอสอาร์ไอ (ESRI) ได้กำหนดทิศทางธุรกิจปี 2564 พัฒนาโซลูชันเรือธง ผ่านเทคโนโลยี GIS ด้วยซอฟแวร์ ArcGIS หนุนลูกค้า 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ค้าปลีก สมาร์ทซิตี้ และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม มุ่งเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้า พลิกวิกฤตสร้างโอกาส เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดทางธุรกิจ พร้อมขยายตลาดไปยังต่างประเทศภายในปีนี้

 

างสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Market Analysis Report ได้รายงานตลาดของ Location Intelligence ทั่วโลกในปี 2562 มีมูลค่า 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ถึง 15.2% ในช่วงปี 2563 – 2570 รายงานผลวิเคราะห์ยังกล่าวถึง ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการนำ Location Intelligence ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานธุรกิจต่างๆ  อาทิ การบูรณาการข้อมูลโลเกชันกับข้อมูลทางธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ และการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ ( Business Continuity Management) รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูล Location Intelligence ไปใช้ในการคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า (Situation management) เพื่อลดความเสียหาย ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการและมอนิเตอร์สถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ อาทิ ภัยพิบัติ มลพิษ หรือสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี IOT ในหลายภาคธุรกิจ ยังผลักดันให้เกิดความต้องการการใช้งาน Location Intelligence ร่วมกับการวิเคราะห์อุปกรณ์ IOT ในรูปแบบของการวิเคราะห์ประมวลผลเชิงลึก (Geospatial Analytic) อาทิ ที่ตั้งอุปกรณ์ IOT ใกล้-ไกลพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ทำการคาดการณ์อายุการใช้งานและวางแผนการซ่อมบำรุง ป้องกันการเสียหาย เพื่อส่งผลที่ดีที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจภาพรวม

และในปัจจุบัน การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลถึงความต้องการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและความต้องการในโครงสร้างก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างกว้างขวาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูล Location Intelligence เข้าไปมีบทบาทคู่ขนานกับการนำข้อมูลทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการก่อสร้าง หรือคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการกระจายตัวของประชาชนที่เกิดขึ้น ดังนั้น ปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นนี้เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมตลาด Location Intelligence ที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับรายงานของ Forbes พบร้อยละ 53 ของผู้ประกอบการมอง Location Intelligence เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์

“การใช้ Location Intelligence หรือข้อมูลแผนที่เชิงลึก ควบคู่กับการใช้บิ๊กดาต้า เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ เห็นมุมมองทางธุรกิจได้ชัดเจน เป็นกุญแจการเดินเกมกลยุทธ์ทางธุรกิจในยุคที่ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจผันผวนและพลิกเปลี่ยนรวดเร็ว นอกจากนี้ GIS หรือ โลเกชัน ยังสามารถนำไปใช้ในการทำงาน Day-to-Day Operation รวมทั้งภารกิจที่สำคัญ (Mission Critical) อาทิ เหตุการณ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาครัฐบาลได้นำ GIS ไปใช้ ในการบริหารจัดการและมอนิเตอร์สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น“ นางสาวธนพร กล่าว

นางสาวธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางธุรกิจของอีเอสอาร์ไอ ในปี 2564 นี้ มุ่งพัฒนาโซลูชันเรือธง ผ่านเทคโนโลยี GIS ด้วยซอฟแวร์ ArcGIS เพื่อหนุน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ ธุรกิจค้าปลีก เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพื่อเป้าหมายในการแก้ pain point แต่ละอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

1.ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ด้วยการนําข้อมูลเชิงตําแหน่งและพื้นที่มาใช้ในการวิเคราะห์ และนําเสนอมุมมองใหม่ ๆ ไปสู่การตัดสินใจทางกลยุทธ์ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนสูงสุด ด้วย 2 โซลูชัน คือ โซลูชัน Market Planning and Site Analysis วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย รวมถึงการปรับ-รวม-ย้ายสาขา ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการหาข้อมูลและการสํารวจ และ โซลูชัน Trade Area and Zone Planning วิเคราะห์พื้นที่ให้บริการจากตำแหน่งสาขา เพื่อกำหนดขอบเขตให้บริการ พื้นที่ครอบคลุม หรือพื้นที่ทับซ้อน และรูปแบบการให้บริการ ทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนค่าขนส่ง และจัดสรรสินค้าได้ตรงกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อยอดขายที่เพิ่มขึ้น

2.สมาร์ทซิตี้ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจําเป็นต้องมีข้อมูลเชิงตําแหน่ง (Location-based) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางผัง ออกแบบ และวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการนําเทคโนโลยี GIS เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ นําไปสู่การพัฒนาโซลูชันให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านต่าง ๆ รวมทั้งระบบบริหารจัดการ และติดตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องการเห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทันต่อเหตุการณ์ เช่น งานการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ และงานติดตามสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 และระบบติดตามสถานการณ์นํ้าท่วมในพื้นที่ เป็นต้น

3.โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม (AEC) โซลูชันที่นำเอาความสามารถของการทำงานเชิงพื้นที่ ประยุกต์ใช้สำหรับงานด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรมและการก่อสร้าง ช่วยลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกในการทำงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบ วางผัง และการจำลองอาคารในรูปแบบ 3 มิติ รวมถึงระบบวิศวกรรมการซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ArcGIS ยังเพิ่มความสามารถด้านแผนที่ สำหรับผู้ใช้งาน AutoCAD และการบูรณาการชั้นข้อมูล GIS เพื่อช่วยในการประเมินผลกระทบทางด้านสภาพแวดล้อมได้อีกด้วย

นอกจากการให้บริการดังกล่าวให้กับลูกค้าในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว อีเอสอาร์ไอ ในฐานะตัวแทนบริษัทชั้นนำจาก อีเอสอาร์ไอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผลิตภัณฑ์ภูมิสารสนเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ยังมีเป้าหมายในการขยายบริการ Location Intelligence ไปยังตลาดต่างประเทศลาวและกัมพูชาภายในปี 2564 นี้อีกด้วย โดยมั่นใจว่าด้วยพลังของบิ๊กดาต้าซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์ Location Intelligence จะเป็นเครื่องมือที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนทุกธุรกิจของลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และพาธุรกิจก้าวล้ำนำหน้ากว่าผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน นางสาวธนพร กล่าวทิ้งท้าย