ซัมซุงร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนากล้องจุลทรรศน์จากสมาร์ทโฟน โดยคณะวิทย์ จุฬาฯ ส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ใน 2,500 โรงเรียนชายขอบทั่วประเทศ

บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ร่วมสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการมอบสมาร์ทโฟนจำนวน 500 เครื่องให้โครงการ “2,500 กล้องจุลทรรศน์ จาก 2,500 โทรศัพท์มือถือเก่า เพื่อ 2,500 โรงเรียนชายขอบ” โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ทดแทนกล้องจุลทรรศน์ในโรงเรียนที่ประสบความขาดแคลนอุปกรณ์การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

อุปสรรคในการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชายขอบ

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นหนึ่งในรากฐานของปัญหาสังคมไทย เด็กนักเรียนในพื้นที่ที่ห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและอุปกรณ์ทางการศึกษาอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์ ที่การเรียนภาคปฏิบัติต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาสูง อาทิ กล้องจุลทรรศน์ที่มีราคาสูงถึง 40,000 บาทต่อเครื่อง ทำให้หลายๆ โรงเรียนประสบปัญหาในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมแก่นักเรียน อุปสรรคและปัญหาเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมริเริ่มความร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เลนส์ แอนด์ สมาร์ทคลาสรูม จำกัด ในการเชิญชวนองค์กรธุรกิจและบุคคลทั่วไปมาร่วมบริจาคโทรศัพท์มือถือเก่า เพื่อนำไปใช้เป็นกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัลที่สามารถบันทึกภาพและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ เป็นสื่อการเรียนการสอนอัจฉริยะ (smart education devices) เพื่อมอบให้แก่โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขนาดเล็ก ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “2,500 กล้องจุลทรรศน์ จาก 2,500 โทรศัพท์มือถือเก่า เพื่อ 2,500 โรงเรียนชายขอบ”

จากมือถือเก่าสู่กล้องจุลทรรศน์

กรมควบคุมมลพิษได้มีการเก็บสถิติและพบว่าในปี 2559 มีขยะอิเลคโทรนิคส์ (Electronic Waste หรือ E-waste) จำนวนสูงถึง 13.42 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีปริมาณมากและต้องการการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต หนึ่งในแนวทางการจัดการกับขยะอิเลคโทรนิคส์อย่างถูกต้องคือการนำกลับมาใช้ใหม่ โทรศัพท์มือถือเก่านับเป็นขยะอิเลคโทรนิคส์ประเภทหนึ่งที่สามารถถูกนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อาทิ การนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้อย่างกล้องจุลทรรศน์ โดยนำมาใช้ร่วมกับ CU Smart Lens (ซียู สมาร์ท เลนส์) เลนส์ที่ทำหน้าที่แปลงสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์อย่างง่ายที่มี 3 กำลังขยาย คือ 20 เท่า, 40 เท่า และ 50 เท่า ด้วยการหนีบเลนส์เข้ากับกล้องของสมาร์ทโฟน  นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัล  เช่น ฐานวางตัวอย่าง แท่นวางมือถือ ไฟ LED ที่เป็นแหล่งกำเนิดแสง ปุ่มปรับโฟกัส และแบตเตอรี่สำรอง เป็นต้น ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นการต่อยอดการเดินทางของสมาร์ทโฟน จากขยะเก่าที่ไร้ประโยชน์สู่โอกาสแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่จะได้เรียนรู้รายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัวที่มีขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสรดอกไม้ แมลง จุลชีพ ไปจนถึงเซลล์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต

ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการฯ เผยว่า CU Smart Lens คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณครูและนักเรียนได้เข้าถึงการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้ในราคาที่จับต้องได้ เพื่อเป็นตัวช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เนื่องจากอุปกรณ์มีราคาแพง ทำให้การจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติทำได้แบบไม่ทั่วถึง การสนับสนุนจากซัมซุงครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กๆ และยังถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษาของไทยอีกด้วย”

โอกาสทางการศึกษา คือโอกาสพัฒนาประเทศ

วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ซัมซุงตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาและมุ่งส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนรุ่นใหม่เสมอมา ตามแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของซัมซุงทั่วโลก เรายินดีที่สมาร์ทโฟนเก่าของเรา ซึ่งเป็นสินค้าที่ผ่านการใช้งานในกิจกรรมทางการตลาด แต่ยังคงสภาพดี จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสใหม่ให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อพวกเขาจะได้เป็นอนาคตที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต”

โครงการ 2,500 กล้องจุลทรรศน์ฯ ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการมองเห็นคุณค่าในสิ่งของรอบตัว โดยการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับการศึกษาที่เท่าเทียมและครอบคลุมแก่นักเรียนทั่วประเทศ รวมถึงเสริมสร้างแนวคิดในการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งของเก่า ยิ่งไปกว่านั้น CU Smart Lens ยังโดดเด่นด้วยการใช้งานที่ง่ายและคุณภาพที่เหนือระดับยังคว้ารางวัลระดับโลกมากมาย ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ถือได้ว่าโครงการฯ นี้ ได้ช่วยสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต