6 ขั้นตอน เลือกซื้อปริ้นเตอร์ 3 มิติ

หลังจากคอนเทนต์ก่อนหน้านี้แนะนำ 7 ประเภทของปริ้นเตอร์ 3 มิติ ไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนที่สนใจและอยากสัมผัสกับเจ้าปริ้นเตอร์ 3 มิติ อยากจะรู้กันแล้วว่ารายละเอียดถ้าจะอยากมีไว้ครอบครองสักเครื่องจะได้ดูข้อมูลอะไรบ้าง เราจึงนำแนวทางการเลือกซื้อคร่าว ๆ มาให้ดูกัน ซึ่งกว่าจะเลือกซื้อได้ คุณอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อย้อนถามตัวเองว่าต้องการปริ้นเตอร์ 3 มิติแบบไหนด้วยนะครับ

1.อะไรที่เราต้องการจะปริ้น หรือชิ้นงานอะไรที่เราอยากจะผลิต

ก่อนทำการตัดสินใจจะเลือกปริ้นเตอร์ 3 มิติ สิ่งแรกที่เราต้องคิดคือ อะไรที่เราต้องการจะปริ้น หรือชิ้นงานอะไรที่เราอยากจะผลิต เพราะชิ้นงานนั้นจะส่งผลต่อสเปกหลายอย่างของปริ้นเตอร์ 3 มิติ เช่น ขนาด หรือความแม่นยำของเครื่อง

2.จำนวนชิ้นงานที่เราต้องการจะปริ้น หรือที่เราอยากจะผลิต

ราคาของเครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิตินั้นหลากหลาย เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินความต้องการจนเกินไป เราควรทำการคำนวณถึงปริมาณการใช้งาน โดยคำนวณถึงสิ่งที่เราต้องการจะปริ้น หรือที่เราอยากจะผลิตใน 6 – 12 เดือนข้างหน้า เพื่อประมาณค่าวัสดุหรือ filament และค่าไฟ ถ้าเราต้องการพรินต์มาก filament ควรใช้น้อยหรือราคาถูก

3.งบประมาณของเราคือเท่าไหร่

ในปัจจุบันเครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิติที่มีราคาถูกจะใช้เทคโนโลยี FDM (filament deposition manufacturing) โดยเครื่องที่มีราคาสูงขึ้นไปจะใช้เทคโนโลยี SLA (stereolithography) หรือ SLS (selective laser sintering) เราสามารถแบ่งเครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิติตามงบประมาณคร่าว ๆ ได้ดังนี้

– ปริ้นเตอร์ 3 มิติสำหรับผู้เริ่มต้น : ราคาอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 45,000 บาท : เครื่องในหมวดนี้จะใช้ filament หรือวัสดุแบบมาตรฐาน, สามารถปริ้นได้สีเดียวในหนึ่งครั้ง, printing size ขนาดเล็ก, วัสดุที่สามารถใช้ได้ส่วนมากสำหรับ FDM Printer คือ PLA หรือ ABS

– High-end ปริ้นเตอร์ 3 มิติ : ราคาอยู่ที่ประมาณ 35,000 – 120,000 บาท : บางเครื่องในหมวดนี้จะสามารถพรินต์ 2 สีในหนึ่งครั้ง, ความละเอียดในการปริ้นและความเรียบของผิว surface มีสูง, printing size มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับชิ้นงานขนาดใหญ่

– DIY หรือปริ้นเตอร์ 3 มิติแบบประกอบเอง : ราคาอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหมื่นต้น ๆ ถ้าเราสามารถประกอบได้เอง และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปริ้นเตอร์ 3 มิติ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ดี เราก็สามารถเลือกเครื่องประเภทนี้เพื่อประหยัดงบประมาณ

– SLA Printer : ราคาเริ่มที่ประมาณ 100,000 บาท : สามารถปริ้นชิ้นงานที่มีรายละเอียดมากและความละเอียดสูง (เพราะใช้การยิง laser ไปที่ของเหลว (เรซิน) เพื่อให้ของเหลวแต่ละชั้นแข็งตัว), SLA Printer จะปริ้นได้เร็วกว่า FDM Printer, ราคาของเรซินค่อนข้างสูง (เช่นประมาณ 5,000 ต่อลิตร), สีของเรซินยังมีให้เลือกจำกัด

– SLS Printer : ราคาเริ่มที่ประมาณ 350,000 บาท : สามารถปริ้นได้ด้วยวัสดุหลายประเภท (polymer, metal, glass, ceramics) ปริ้นชิ้นงานที่มีรายละเอียดมากและความละเอียดสูง ทำให้ผลิตชิ้นงานได้หลากหลาย (เพราะใช้การยิง laser ไปยังวัสดุที่เป็นผง เพื่อทำให้วัสดุหลอมละลาย และเกาะตัวกันในแต่ละชั้น)

4.ต้องการปริ้นด้วยวัสดุอะไร

วัสดุที่ใช้มากกับเครื่องปริ้นเตอร์ 3 มิติในปัจจุบันคือ พลาสติก (เพราะพลาสติกจะอ่อนตัวเมื่อถูกความร้อน และแข็งเมื่อเย็นตัวลง) สองประเภทที่ใช้มากคือ PLA (thermoplastics), ABS (thermoplastics)

– PLA (PolyLactic Acid) ผลิตจากแป้งข้าวโพด เหมาะสำหรับชิ้นงานประเภท household ขนาดเล็ก มีหลายสี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เย็นตัวเร็ว (ทำให้ปัญหาการบิดงอหรือ warping ลดลง) แต่ว่าจุดหลอมเหลว (melting point) ต่ำ ดังนั้นจึงอาจเปลี่ยนรูปได้ที่อุณหภูมิสูง และวัสดุประเภทนี้ยังไม่เหมาะกับชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงมากนัก

– ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) ผลิตจากปิโตรเลียม ชิ้นงานที่ปริ้นจาก ABS จะมีความยืดหยุ่นและแข็งแรง ABS มีจุดหลอมเหลว (melting point) สูงกว่า PLA จึงคงรูปได้ดีกว่าที่อุณหภูมิสูง ABS เย็นตัวช้า (อาจทำให้เกิดปัญหาการบิดงอหรือ warping) และอาจเกิดควันในระหว่างการปริ้น

– ถ้าต้องการปริ้น metal, ceramics หรือ glass ต้องเลือกเครื่องประเภท SLS Printer แต่บางรุ่นของ FDM Printer ก็สามารถพรินต์วัสดุประเภท wood, metal หรืออื่น ๆ ได้

5.Printing size และปริมาตร

Printing size ของเครื่องมีผลกับขนาดของชิ้นงานที่พรินต์ใน 1 ครั้ง สำหรับปริมาตร คิดจากขนาดตามแนวแกน XYZ (X= width, Y = depth, Z = height) บางชิ้นงานสามารถแบ่งปริ้นเป็นหลาย ๆ ครั้งแล้วนำมาประกอบกันทีหลังได้ ถ้าปริ้นชิ้นงานพลาสติก ก็สามารถใช้กาวในการประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันได้ (ใช้การประกอบในกรณีที่ Printing size จำกัด แล้วต้องทำการแบ่งชิ้นงานออกเป็นส่วน ๆ

6.จำนวนสีของชิ้นงานที่ต้องการ (1 หรือ 2 สี, 1 หรือ 2 extruders)

ปริ้นเตอร์ 3 มิติส่วนมากมี 1 extruders ที่ extruder คือส่วนที่ filament หรือวัสดุพิมพ์ จะถูกทำให้ละลายและถูกปล่อยเข้ามาในพื้นที่ปริ้น เครื่องที่มี 1 extruders คือเครื่องที่เราจะสามารถปริ้นได้ทีละ 1 สี เราสามารถเปลี่ยนสีหรือเปลี่ยน filament ในการปริ้นชิ้นงานได้ โดยหยุดเครื่องชั่วคราว ทำการเปลี่ยน filament แล้วเดินเครื่องต่อ ปริ้นเตอร์ 3 มิติบางรุ่น (ส่วนมากคือรุ่นที่มีราคาสูง) จะมี 2 extruders ทำให้เราสามารถปริ้นงานด้วย 2 สีพร้อมกันได้ ซึ่งปริ้นเตอร์ 3 มิติบางรุ่นก็สามารถเพิ่ม extruder ได้

จะเห็นว่าปริ้นเตอร์ 3 มิติในปัจจุบันไม่ได้แพงอย่างที่คิด สำหรับคนที่คิดจะซื้อมาลองใช้เล่น ๆ ก็ไม่แพง ส่วนคนที่จะซื้อไปใช้งานจริง ๆ จัง ๆ หรือพิจารณาไปต่อยอดทำธุรกิจก็ไม่เลว แต่อาจจะต้องพิจารณาเหลือปริ้นเตอร์ 3 มิติที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของคุณ

สำหรับคนที่ไม่ได้ซื้อมาเล่นเพราะด้วยงบประมาณที่จำกัด หรือดูแล้วมันยุ่งยาก ทั้งการออกแบบงาน 3 มิติและการใช้ตัวเครื่องปริ้นเตอร์ ก็ยังได้รับประโยชน์ต่อเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งทำสินค้ากลุ่มพลาสติกที่สามารถออกแบบและสั่งผลิตในแบบที่คุณต้องการเองได้ แม้ว่าจะผลิตเพียงชิ้นเดียว โดยมีต้นทุนต่ำลงผ่านการใช้ปริ้นเตอร์ 3 มิตินี้ และคาดว่าในเร็ว ๆ นี้เราจะได้เห็นสินค้าที่ถูกผลิตจากปริ้นเตอร์ 3 มิตินี้มากมายขึ้นอย่างแน่นอน