เมื่อวันที่ 15 พ.ย ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปีของ Intel 4004 ชิปไมโครโปรเซสเซอร์ตัวแรก ที่ทาง Intel วางจำหน่ายในปี 1971 โดยถือเป็นชิปประมวลผลที่เปลี่ยนโลกและวงการคอมฯ ไปตลอดกาล เดี๋ยววันนี้ลองมาดูประวัติและเรื่องราวสั้น ๆ กันครับ
แม้ ‘ชิปประมวลผล’ จะมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ช่วงเวลาที่คนจดจำเป็นพิเศษคือ “ตอนที่มันจับต้องได้” หรือวันที่ Intel 4004 ไมโครโปรเซสเซอร์ตัวแรก ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และพลิกโฉมวงการไอทีกับวิถีชีวิตของเราไปตลอดกาล
จุดกำเนิดก็มาจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Nippon Calculating Machine Corp. ได้ติดต่อขอให้ทาง Intel ให้ช่วยออกแบบชุดวงจรสำหรับ Busicom 141-PF เครื่องคำนวณต้นแบบทางวิศวกรรม หรือเครื่องคิดเลขในยุคนั้นเอง
จากตอนแรกจะใช้ชิป Custom จำนวน 12 ตัว แต่ Intel ปรับการออกแบบให้ใช้เป็นชิปเพียง 4 ตัวเท่านั้น ซึ่งมี Intel 4004 หน่วยประมวลผลกลางนี้เอง
Intel 4004 เป็นชิป 4 Bit ที่สร้างขึ้นบนโหนดขนาด 10 µmบรรจุทรานซิสเตอร์ 2,300 ตัว (ปัจจุบันใส่ได้กว่าพันล้านตัวแล้ว) และมีความเร็ว 740KHz (ปัจจุบันเป็น GHz) ในยุคนั้นถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างวงจรไฟฟ้าที่ซับซ้อนมาก ๆ และอัดในชิปขนาดเท่าเล็บมือเท่านั้น แต่กลับให้พลังการประมวลผล แรงเท่ากับเครื่องคอมฯ ตัวแรก ที่สร้างเมื่อปี 1946 ซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ห้อง ๆ หนึ่งกันเลย ส่วนตัวชิปก็วางจำหน่ายในปี 1971 หรือปี 2514 โดยวางขายในราคา 60 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,000 บาท
กระบวนดังกล่าว ก็ได้กลายมาเป็นวิธีการออกแบบวงจรตรรกะ (random logic design) รูปแบบใหม่ ซึ่งกลายเป็นรากฐานในการสร้างไมโครโปรเซสเซอร์ หรือชิปประมวลผลรุ่นถัด ๆ มา ก่อนที่จะพัฒนาเป็นการสร้างชิปในอุปกรณ์ดีไวซ์ต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันนี้เอง
ฉะนั้นจึงเรียกชิป Intel 4004 ว่าเป็น “บิดาแห่งชิปประมวลผล” ได้เลยครับ
“ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 50 ปี ของชิป 4004 ลองคิดดูว่าในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เราได้ประสบความสำเร็จไปมากมายขนาดไหน นี่เป็นช่วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเทคโนโลยี และเป็นสิ่งที่ทำให้การประมวลผลได้เริ่มต้นขึ้นจริงๆ”
แพท เกลซิงเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารบริษัทอินเทล
ที่มา : Techspot