ปี 2558 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป วงการไอทีไทยนับว่าได้รับการจับตามองอย่างยิ่งทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการใช้ชีวิตของคนภายในชาติ ตลอดจนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในรอบปี 2558 มีหลายเหตุการณ์ของวงการไอทีไทยที่ได้รับความสนใจ และวันนี้ทีมงาน aripfan จึงคัดเลือก 5 ข่าวเด่น ดัง วงการไอทีไทย ตลอดปี 2558 มาสรุปให้ได้รับทราบโดยทั่วกันครับ
1. 4G เดือด ! คลื่น 1800 และ 900 MHz ประมูลมาราธอน
เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการโทรคมนาคมไทย เมื่อ กสทช. จัดการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยมี AIS, True, DTAC และ JAS เข้าร่วมศึกแย่งชิงคลื่นในครั้งนี้ และเป็น AIS และ True ที่สามารถฝ่าด่านการประมูลคว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz ด้วยมูลค่ารวมถึง 80,778 ล้านบาท กินเวลาประมูล 1 วันเต็มๆ
ผ่านมา 1 เดือน กสทช. จัดประมูลอีกครั้งในคลื่นความถี่ 900 MHz เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 โดยมี มี AIS, True, DTAC และ JAS เข้าร่วมประมูลเช่นเดิม และในครั้งนี้ถือว่าเป็นการแข่งขันประมูลที่ดุเดือดเข้มข้น กินเวลายาวนานถึง 7 วัน ซึ่งผลของการประมูลปรากฏว่า True สามารถคว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ไปครองได้ ส่วนใบอนุญาตอีกหนึ่งใบถือว่าเป็นการหักปากกาเซียนอย่างแท้จริง เมื่อ JAS สามารถคว้าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ใบที่สองไปครองได้สำเร็จ และมูลค่ารวมของการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มีทั้งสิ้น 151,952 ล้านบาท
แน่นอนว่าคำถามจากผู้บริโภคทั่วไปสำหรับผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz คือ เรื่องของค่าบริการ ที่เห็นว่าจากเม็ดเงินมหาศาลในการประมูลจะส่งผลต่อค่าบริการที่แพงขึ้นหรือไม่ ? ซึ่งเรื่องนี้ทาง กสทช. ได้ออกกฎและย้ำกับทุกค่ายว่า “… อัตราค่าบริการของการให้บริการผ่านเครือข่าย 4G นั้นจะต้องถูกกว่าการให้บริการผ่านเครือข่าย 3G… “
ส่วน JAS ผู้ใหบริการรายใหม่ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและสร้างฐานลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด เราในฐานะผู้บริโภคคงต้องรอความชัดเจนในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงครับ
2. รุมกระหน่ำ ! เว็บไซต์ภาครัฐ ปม Single Gateway
หลังจากที่มีการเปิดเผยนโยบายของรัฐบาล กับการนำ “Single Gateway” มาใช้ในประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบุคลากรในแวดวงไอทีจำนวนมากต่างออกมาคัดค้านต่อนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และตามมาด้วยปัญหาอีกหลายประการ ด้วยนโยบายดังกล่าวยังก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง ที่พร้อมใจกันรุมกระหน่ำเว็บไซต์ภาครัฐหลายเว็บไซต์ จนไม่สามารถเข้าใจงานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมกันนี้ยังมีการร่วมลงชื่อต่อต้านการจัดตั้ง Single Gateway ผ่านเว็บไซต์ www.change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 150,000 ราย
นอกจากนี้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางส่วนในไทยที่ต่อต้านแล้ว ยังมีการระบุว่า Anonymous กลุ่มแฮกเกอร์นามกระฉ่อนโลก เปิดเกมเดินหน้าโจมตี CAT Telecom พร้อมเปิดเผยฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 1,000 รายชื่อ อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรณี Single Gateway
แม้กระแสข่าวเรื่องการจัดตั้ง Single Gateway จะดูเงียบหายไป แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่านโยบายดังกล่าวจะล้มเลิกไปจริงหรือไม่ ?
3. Rasomeware อีเมล์ไวรัสระบาด ล็อคไฟล์ เรียกค่าไถ่
ราวๆ กลางปี 2558 ที่ผ่านมา สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) มีหนังสือแจ้งเตือนแก่หน่วยงานภายในดีเอสไอ เรื่อง “การเปิดอ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ติดไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่” โดยระบุว่า ไวรัสชนิดนี้จะส่งผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล์ หากกดเปิดอีเมล์ดังกล่าว ไวรัสจะสามารถเข้าไปในระบบ
ขณะเดียวกันศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ไทยเซิร์ต ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ สพธอ. แจ้งว่า ภัยคุกคามระบบคอมพิวเตอร์ชนิดนี้ เป็นมัลแวร์ ชื่อ ซีทีบี-ล็อกเกอร์(CTB-Locker) ได้รับแจ้งจากหลายหน่วยราชการสำคัญในประเทศไทย รวมถึงจากเครือข่ายความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทั่วโลก ซึ่งชื่อเต็มของมัลแวร์ตัวดังกล่าวคือ Curve-Tor-Bitcoin Locker เป็นมัลแวร์ประเภท “Ransomware”
โดยเมื่อเปิดไฟล์แนบ Ransomware จะโจมตีด้วยวิธีการเข้ารหัสลับ (Encryption) ไฟล์เอกสารต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ รวมถึงเอกสารที่แชร์ผ่านเครือข่ายและจากอุปกรณ์ External Drive ที่เสียบอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งไฟล์ของเครื่องเหยื่อจะยังอยู่ แต่ไม่สามารถเปิดอ่านข้อมูลได้ จนกว่าจะจ่ายเงินเป็นสกุลเงินบิทคอยน์ (Bitcoin) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งรหัสสำหรับถอดรหัสลับข้อมูล (Decryption) กลับมา หากแต่ในความเป็นจริง มีหลายกรณีที่พบว่าการจ่ายเงินค่าไถ่ไปแล้ว เหยื่อกลับไม่ได้ข้อมูลคืนมาอย่างที่อ้างไว้ ซึ่งส่งผลเสียหายทั้งในระดับบุคคล บริษัท หรือองค์กร และมีรายงานข่าวด้วยว่ามีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในประเทศไทยรายหนึ่ง ถูกไวรัสเรียกค่าไถ่ดังกล่าวเล่นงานจริงด้วย
สำหรับวิธีป้องกันสามารถเข้าไปติดตามได้ที่นี่ >>> “ไทยเซิร์ต” ออกโรงแนะวิธีป้องกัน มัลแวร์เรียกค่าไถ่ <<< คลิก
4. กฎหมายลิขสิทธิ์ ! จะข้อความ รูปภาพ วีดีโอ … ตั้งสติ ก่อนจะใช้ ก่อนจะแชร์
จากกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เสมือนเป็น “เครื่องเตือนสติ” แก่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งในส่วนบุคคลและภาคองค์กรธุรกิจ ที่จะต้องคิดดีๆ ก่อนใช้ ก่อนจะแชร์ข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอ หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายได้
อ่านรายละเอียดของกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ที่นี่ >>> กรมทรัพย์สินทางปัญญา <<< คลิก
5. ช็อค ! คนใช้ … LG ถอนตัวธุรกิจมือถือในประเทศไทย
ถือเป็นข่าวช็อค ! สำหรับผู้ใช้มือถือ LG ในประเทศไทย เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางแฟนเพจ LG Life’s Good ระบุว่า “กรณีข่าวเกี่ยวกับธุรกิจมือถือแอลจีนั้น บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอชี้แจงว่าการให้บริการหลังการขายยังคงมีอยู่ตามปกติ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทางแอลจีจะปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ และคาดการณ์ว่าจะนำสินค้ารุ่นใหม่ๆ กลับเข้าสู่ตลาดประเทศไทยอีกครั้ง ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 นี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ขอเรียนว่า แอลจีจะยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับชีวิตของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นต่อไป สอดคล้องกับแนวคิดของเราคือ “Innovation for a Better Life” หรือ “นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ให้แก่ผู้บริโภคชาวไทยเช่นเดิม”
ซึ่งภายหลังสอบถามจากแหล่งข่าววงในเปิดเผยกับ aripfan เพียงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากปัญหาด้านการตลาดและยอดขายในประเทศไทย