จากความเดิมตอนที่แล้ว เกี่ยวกับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz หรือ “4G” รวมถึงความสามารถที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยในวันนี้เออาร์ไอพีจะมานำเสนอเรื่องราวในตอนที่ 2 ไปกับ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ (กสทช) ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
เออาร์ไอพี : เทคโนโลยี 4G จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจและศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างไร (ต่อ)
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ : ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz ที่ผ่านมา Network Readiness Index (NRI) จาก World Economic Forum แสดงการพัฒนาและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในปี 2558 นี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 67 จาก 143 ประเทศทั่วโลก และขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยปัจจัยที่ผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในระดับที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
จากการประเมินว่าราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินดีขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปี 2557 มาอยู่ที่อันดับ 16 ในปี 2558 ประกอบกับอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประเมินจากจำนวนผู้ใช้งานบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากร 100 คน ดีขึ้นจากอันดับที่ 132 เมื่อปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 42 ในปี 2558 ขยับสูงขึ้นถึง 90 อันดับ ในทำนองเดียวกันจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากร 100 คน อยู่ในอันดับ 35 ในปีนี้ สูงขึ้นจากปี 2557 ที่อยู่ในอันดับ 38 ผนวกกับการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ที่ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 29 จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 49 ในปี 2557 หากผู้ประกอบการขยายเครือข่ายด้วยเทคโนโลยี 4G LTE บนความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ผ่านมา หรืออาจดีขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งมีการคาดการณ์จาก GSMA ไว้ว่า ถ้าหากประเทศไทยสามารถดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ900MHz เป็นไปตามแผน ก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาด้าน ICTs ไปสู่ประเทศที่มีการพัฒนาแล้วในด้าน ICTs และจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวที ASEAN และเวทีโลกได้อย่างเข้มแข็ง
เออาร์ไอพี : สามารถสร้างโอกาสกับธุรกิจใหม่อย่างไร?
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ : ในปัจจุบันจะเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเป็นมากกว่าโทรศัพท์มือถือธรรมดาที่ไม่ใช่แค่โทรออกรับสายหรือส่ง SMS เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็น GPS นำทาง เป็นผู้รายงานสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แทนบัตรเครดิต ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราจะได้เห็นสถิติจากหลายสถาบัน บ่งบอกถึงความนิยมในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จนจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แซงหน้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์พีซีไปแล้วเมื่อปี 2014 ซึ่งนอกจากจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อค้นหาข้อมูล หรือพูดคุยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว ยังมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อซื้อสินค้าและบริการ และมีการทำธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี
ดังนั้นเมื่อมีการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น จะทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ คนรุ่นใหม่มีโอกาสสร้าง SMEs แบบ digital business เกิดนวัตกรรมด้าน content และ mobile media การโฆษณาไม่ได้ขึ้นกับเงินลงทุน แต่ขึ้นอยู่กับไอเดีย เนื่องจากคนจะสามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ผ่าน Mobile device ได้ง่ายขึ้น จึงทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่ายขึ้น
เออาร์ไอพี : ประชาชน ผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์อะไรจากการประมูลคลื่นความถี่ 4G ?
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ : การให้บริการเครือข่ายด้วยเทคโนโลยี 4G เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ศักยภาพของแบนด์วิธที่มีอยู่ ทั้ง capacity และประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีมากขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์ที่การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้นอย่างน้อย 3-4 เท่าตัว จึงทำให้เกิดบริการใหม่ๆ ที่ 3G ทำได้ไม่เต็มที่ เช่น streaming TV, Mobile broadcasting, Cloud computing เป็นต้น และ 4G เป็นระบบที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่การให้บริการทางเสียงถูกลดความสำคัญลง โดยในอนาคตอันใกล้ผู้คนจะใช้บริการ voice ในรูปแบบ internet ทั้งหมด