เมื่อก่อนเราใช่คำว่าไบออส หรือซีมอส แต่ปัจจุบันเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะคุ้นชินกับคำว่าเฟิร์มแวร์มากกว่า ซึ่งความหมายนั้นค่อนข้างคล้ายกันมากทีเดียว มันคือข้อมูลที่เก็บอยู่ในรอมของเครื่อง และถูกโหลดขึ้นมาใช้งานทันทีที่เปิดเครื่อง แต่จะมีอะไรอยู่ในเฟิร์มแวร์บ้างนั้นก็แล้วแต่ชนิดของอุปกรณ์และความจำเป็นในการใช้งาน
อย่างไบออสของเมนบอร์ดบนเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นพีซีหรือโน้ตบุ๊ก จะมีเพียงแค่ชุดคำสั่งตรวจสอบอุปกรณ์และการทำงานพื้นฐานของระบบเท่านั้น ตัวโอเอสคุณจะต้องติดตั้งเอง ในขณะที่สมาร์ทโฟนอาจจะรวมเอาหลายๆ ส่วนเข้าไว้ด้วยกันกันคือ Loader ทำหน้าที่เหมือนไบออส และมีส่วนของโอเอสรวมถึงแอพฯพื้นฐานที่ผู้ผลิตให้มาด้วย แต่ความสำคัญของมันนั้นเท่ากัน คือถ้าไม่มีอุปกรณ์ก็จะเริ่มทำงานไม่ได้
ในการอัพเกรดเฟิร์มแวร์นั้นก็เหมือนกับการก็อบปี้ไฟล์ คือจะต้องก็อปลงไปให้เสร็จทั้งขั้นตอน ไม่อย่างนั้นไฟล์จะไม่สมบูรณ์และไม่สามารถเรียกใช้งานได้เลย ซึ่งถ้าเป็นไฟล์ทั่วไป เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการก็อบปี้ไฟล์ใหม่อีกครั้ง แต่สำหรับเฟิร์มแวร์แล้วหาเกิดความผิดพลาดขึ้นจนเฟิร์มแวร์เกิดความไม่สมบูรณ์แล้ว อุปกรณ์จะไม่สามารถเริ่มต้นระบบขึ้นมาเพื่อใช้งานได้เลย
ในการอัพเฟิร์มแวร์จะมีการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นการป้องกัน เช่นไฟล์เฟิร์มแวร์ที่ใช้อัพนั้นตรงกับรุ่นของอุปกรณ์หรือเปล่า มีขนาดไฟล์เท่ากันไหม ไฟล์มีความสมบูรณ์ดีหรือเปล่า และส่วนที่ผู้ใช้ต้องป้องกันเองก็คือเรื่องไฟที่ห้ามดับ ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟนก็ควรจะมีแบตฯ อย่างน้อย 50% ขึ้นไป ส่วนพีซีก็ควรจะมี UPS กันเอาไว้ โดยขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของเฟิร์มแวร์
ความเสียหายที่เกิดจากการอัพเฟิร์มแวร์ผิด หรือไฟดับในขณะที่อัพนั้นจะทำให้เครื่องไม่สามารถใช้งานได้เลย คือเปิดติด แต่ไม่ทำงาน ซึ่งเหมือนกับเครื่องเสีย โดยที่ไม่มีร่องรอยความเสียหายอื่นๆ ให้ตรวจสอบได้อีกด้วย แต่เรื่องนี้แก้ไขไม่ยาก เพียงแค่อัพเดตเฟิร์มแวร์ที่ถูกต้องลงไป โดยอาจจะต้องใช้ขั้นตอน หรืออุปกรณ์พิเศษเท่านั้น ซึ่งศูนย์บริการของผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถทำได้ครับ