สำหรับใครที่กำลังมองหา Ultrabook ซักตัวไว้ใช้งาน แต่ด้วยทั้งรูปร่าง ฟังก์ชั่นและยี่ห้อที่มีออกมามากมาย ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อไม่ใช่น้อย เพราะไม่รู้จะเลือกแบบไหน ยี่ห้อไหนดี ถึงจะคุ้มกับเงินที่เสียไป วันนี้เราจึงมี 10 วิธีเด็ดในการช่วยเลือกซื้อ Ultrabook มาฝากกัน
1. Screen size: จอจะใหญ่ขนาดไหนดี?
ขนาดหน้าจอควรเลือกตามความเหมาะสม และลักษณะการใช้งาน หน้าจอใหญ่กว่าใช่จะดีเสมอไป โดยปกติที่นิยมใช้กันขนาดหน้าจอจะอยู่ที่ประมาณ 14 นิ้ว รองลงมา 13.3 นิ้ว และหน้าจอใหญ่สุดที่ 15.6 นิ้ว ทั้งนี้สำหรับตัว Ultrabook นั้นทาง Intel ได้มีการกำหนดขนาดตัวเครื่องไว้ด้วย โดยเกณฑ์มี ดังนี้
– ด้านความเบาบางจะต้องบางกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป โดยสำหรับหน้าจอขนาดไม่เกิน 13 นิ้วจะต้องหนาไม่เกิน 18 มิลลิเมตร และจะต้องหนาไม่เกิน 21 มิลลิเมตร สำหรับหน้าจอขนาด 14 นิ้ว
– แบตเตอรี่ใช้ได้นาน อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่นับรวมโหมดแตนบายที่ต้องสามารถแตนบายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งอาทิตย์โดยแบตเตอรี่ต้องไม่หมด
– สามารถเปิดใช้งาน (บูทเครื่อง) ได้อย่างรวดเร็วจาก sleep mode โดยต้องไม่เกินหน่วยวินาที
– มีการออกแบบหน่วยสำรองข้อมูลใหม่โดยใช้แบบ SSD แทน HDD แบบแผ่นแม่เหล็กทั่วไป
2 CPU: เร็ว แรง ประหยัดไฟ แบบไหนถึงได้ครบ?
Core-i3 เหมาะสำหรับทำงานเอกสารทั่วไป ดูหนังฟังเพลง เล่นอินเตอร์เน็ต และเกมทั่วๆไปที่กราฟิกไม่สูงมาก
Core-i5 เหมาะสำหรับเล่นเกมที่ใช้กราฟิกระดับกลางถึงสูง ทำงานพวกแปลงไฟล์ ประกอบงานสามมิติ และเขียนโปรแกรม
Core-i7 สำหรับเกมเมอร์ วิศวกรสาย IT ออกแบบทำงานสามมิติและงานกราฟิกหนักๆ
สำหรับชิพตระกูล Core-i จะแบ่งออกได้อีก 2 ประเภท คือ แบบประหยัดพลังงาน และ แบบปกติ
แบบประหยัดพลังงาน เช่น Intel Core i5-3317U (ลงท้ายด้วย U)
รุ่นปกติ เช่น Intel Core i5-3210M (ลงท้ายด้วย M)
ในปัจจุบัน Core-i พัฒนามาถึงรุ่นที่ 4 (Haswell) แล้ว จะเห็น ตัวเลข 4 นำหน้า ถ้าใครเจอ i5-3210 แบบนี้คือรุ่น 3 สำหรับความแตกต่างระหว่าง GEN 3 กับ GEN 4 ต่างกันแค่เรื่องประหยัดพลังงานและเรื่องการระบายความร้อน ในส่วนการประมวลผลและความเร็วในการทำงานไม่แตกต่างกันมากนัก
3. GPU/VGA: เล่นเกมได้ ทำงานได้ เล่นเน็ตได้ การ์ดจอขนาดไหนดี?
โดยปกติ CPU จะมีการ์ดจอในตัวอยู่แล้วที่เราเรียกกันว่า การ์ดจอ On board เช่น Intel HD Graphics 4000 ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป พวกเอกสาร และการเล่นเกมออนไลน์บางเกม
สำหรับ VGA (การ์ดจอแยก) จะมีอยู่ 2 ค่ายหลัก คือ AMD กับ NVidia
AMD serial ปัจจุบันจะเป็น AMD Radeon HD 7xxx ยิ่งเลขมากก็ยิ่งประมวลผลกราฟิกหนักๆได้ดี
nVidia serial ปัจุุบันเป็น nvidia GeForce GT 7xx ยิ่งเลขมากก็ยิ่งประมวลผลกราฟิกหนักๆได้ดี
สำหรับ Ultrabook ในบางรุ่นก็อาจมีการใส่การ์ดจอแยกที่เป็นของ AMD หรือ nVidia มาให้เลย แต่ราคาก็จะค่อนข้างสูง
4. Ram: ยิ่งเยอะ ยิ่งประมวลผลเร็ว
ใน Ultrabook ที่ใช้ระบบปฏิบัติการตั้งแต่ Windows 7 ขึ้นไป ควรใช้ RAM 4 GB เป็นอย่างน้อย หากใช้งานหนักๆหรือเล่นเกมมากๆอาจใส่เพิ่มทีหลังเป็น 8 GB ได้ แต่ 4 GB ก็เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว
5. Harddisk: ยิ่งเยอะยิ่งเก็บได้มาก
ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ HDD (Hard Disk Drive) และ SDD (Solid State Drive)
Ultrabook ในปัจจุบันจะนำทั้งสองแบบมาใช้ควบคู่กัน ตัวอย่างบางสเปคจะเป็น 320GB 5400RPM 24GB SSD Cache ที่นำมาใช้ผสมกันเป็นเพราะ HDD นั้นจุได้มากแต่ช้า ส่วน SDD นั้นอ่านได้เร็วกว่า เสียงเบากว่า กินไฟน้อยกว่า บูทเครื่องเร็ว ทนต่อแรงกระแทก แต่ราคาแพงและจุได้น้อย จึงนำมาใช้ผสมกันเพื่อความสมดุล สำหรับความเร็วในการอ่าน จะมีตัวเลขสองชุดคือ 5400RPM กับ 7200RPM โดย 7200RPM จะอ่านได้เร็วกว่าเล็กน้อยประมาณ 8% แต่ข้อเสียคือความร้อนสูง
6. Display resolution: ทำงาน แต่ก็ชอบดูหนัง ชอบเล่นเกม ละเอียดแค่ไหนดี?
ความละเอียดหน้าจอของ Ultrabook ในปัจจุบันก็มีผลต่อการใช้งานของผู้ใช้ไม่น้อย เราจึงควรรู้ก่อนว่าลักษณะงานที่เราจะนำไปใช้นั้นเป็นอย่างไร ต่อไปนี้คือความละเอียดหน้าจอที่เหมาะกับงานลักษณะต่างๆ
– HD 720 (1280 x 720): ความละเอียดของหนัง High definition (HD) ขนาด 720 เส้น และเป็นความละเอียดที่เกม console อย่าง Xbox 360 และ PS3 ใช้ เหมาะสำหรับการทำงานที่หลากหลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม โดยเฉพาะดูหนังซึ่งสามารถรองรับความละเอียดแบบ HD ได้
– WXGA (1280 x 768, 1280 x 800): เป็นความละเอียดที่พบได้มากที่สุดในบรรดา notebook และ Ultrabook ที่มีขนาดหน้าจอตั้งแต่ 10 นิ้วเป็นต้นไป ขนาดที่เหมาะสมกับความละเอียดระดับนี้ควรมีขนาดจอประมาณ 13 – 14 นิ้ว ซึ่งพอดีกับการมอง ตัวอักษรใน Windows เหมาะกับการใช้งานหลากหลาย สามารถตัดต่อภาพและเสียงได้
– 1366 x 768: ความละเอียดของจอ LCD แบบ HD-Ready เป็นความละเอียดระดับ HD ที่เหมาะกับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ทั้งงานเอกสาร ดูหนัง เล่นเกม และงานประเภทตัดต่อภาพและเสียง
– Full HD 1080 (1920 x 1080): ความละเอียดมาตรฐานของหนัง HD แบบ 1080 เส้น (จัดอยู่ในระดับ Full HD) และยังเป็นความละเอียดที่พบใน จอของ notebook หรือ Ultrabook ระดับไฮเอนด์ที่ต้องการโปรโมทความสามารถในการเล่นหนัง Hi-definition เหมาะสำหรับการใช้งานที่เน้นหนักไปทางด้านการตัดต่อภาพ งานกราฟิก รวมไปถึงความบันเทิงพวกดูหนังและเล่นเกมหนักๆ
**ความละเอียดของหน้าจอปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่จะสามารถแสดงผลแบบ HD ได้เป็นพื้นฐาน**
7. Weight: หนักไปก็ไม่ใช่ Ultra
เมื่อพูดถึง Ultrabook จุดเด่นที่สุดเลยคือ น้ำหนักเบาเหมาะแก่การพกพา แต่ก็เหมือนกับสินค้าอื่นๆ Ultrabook เองก็มี นน.ให้เลือกหลากหลาย ดังนั้นสิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับความเบาของ Ultrabook คือ ยิ่งเบามากประสิทธิภาพการทำงานก็อาจจะลดลง เพราะสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานคือ การระบายความร้อน และ Ultrabook มีการระบายความร้อนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ Notebook ทั่วๆไป เนื่องจากต้องทำให้บางจึงจำเป็นต้องลดขนาดตัวระบายความร้อนลง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่สามารถอัพเกรดประสิทธิภาพด้านต่างๆเพิ่มเติมได้ อาทิเช่น การ์ดจอ เพราะจะทำให้เครื่องทำงานเยอะ ความร้อนสูง
ดังนั้นหากต้องการ Ultrabook ที่บางและน้ำหนักเบามากๆก็ต้องแลกกับประสิทธิภาพที่อาจจะไม่สูงมากนัก
8. Brand & After sale service: เครื่องพัง มีที่ซ่อมให้
การคำนึงถึงยี่ห้อสินค้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ควรนึกถึง เพราะหากสินค้ายี่ห้อนั้นๆเป็นที่รู้จักมีมาตรฐาน ย่อมหมายถึงศูนย์บริการที่ดีและมีพอที่จะให้บริการ อีกมุมหนึ่งการเลือกสินค้าที่ยี่ห้อได้มาตรฐานหรือยี่ห้อที่มีชื่อเสียงก็เป็นการการันตีขั้นต้นได้ว่า สินค้าที่เราซื้อมาจะได้ทั้งมาตรฐานและคุณภาพ รวมไปถึงบริการหลังการขายที่เราควรจะได้รับด้วย
9. Prices: ราคา
ก่อนที่เราจะตัดสินใจซื้อ Ultrabook ซักตัว เราควรนึกถึงประสิทธิภาพหรือประโยชน์ที่ได้รับด้วย ว่าเหมาะสมและคุ้มค่ากับราคาที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า Ultrabook นั้นถ้าจะพูดกันตามจริง มีราคาสูงกว่า Notebook ทั่วๆไปอยู่มาก เนื่องจากเน้นที่ดีไซน์ วัสดุที่ใช้ รวมไปถึงความสวยงามหรูหราเหมาะแก่การพกพาเป็นหลัก
10. Warranty: ประกันสินค้า
ในปัจจุบันอายุการประกันสินค้าไม่ได้เท่ากันทุกยี่ห้อหรือตัวแทนจำหน่าย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ ควรสอบถามกับทางผู้จำหน่ายให้เรียบร้อย (เข้าใจตรงกัน) ก่อนว่า Ultrabook ตัวนั้นๆมีการประกันสินค้ากี่ปี? และมีประกันภัยให้มาด้วยหรือไม่? ในส่วนที่มีประกันภัยควรตรวจสอบอีกว่า ครอบคลุมเรื่องใดบ้าง มีเงื่อนไขอย่างไร และมีการลงทะเบียนเอาประกันที่ไหน อย่างไร? เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ซื้อเอง