6. ค้นหาใน Social งมเข็มในทะเลหรือเป็นไปได้
ข้อมูลในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเว็บเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่อยู่ใน Social Network ก็มากมาย ซึ่งการค้นหาข้อมูลบนโลกโซเชียลนั้น หากใครไม่มีเครือข่ายที่กว้างพอ (มีเพื่อนเยอะ หรือมี Follower เยอะ) ก็คงรู้สึกว่ายากมากกว่าจะหาข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้ แม้ว่าใช้ Google ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
สิ่งที่เรียกว่า hashtag จึงถือกำเนิดขึ้น hashtag หรือเครื่องหมาย # (ไม่ได้อ่านว่าชาร์ปอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจนะครับ) ถือว่าเป็นมาตรฐานในการติด hashtag หรือป้ายกำกับความเกี่ยวข้องของเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกันกับการกำหนดคีย์เวิร์ดนั่นเอง ดังนั้นหากเราต้องการค้นหาเรื่องอะไรก็ตาม เราก็สามารถค้นหาได้โดยใช้คำที่ถูกนำมาเป็น hashtag นั่นเอง
การใส่ hashtag นั้นเริ่มต้นจากใน twitter และเริ่มกระจายมาใน Facebook และ Instagram รวมถึง Social Network อื่นๆ ด้วย โดยการใส่นั้นจะต้องนำหน้าด้วยเครื่องหมาย # และพิมพ์คำที่เราต้องการเป็นคีย์เวิร์ด โดยจะต้องเริ่มต้นด้วยตัวอักษรเท่านั้น และจะต้องพิมพ์ติดกันทั้งหมด (ติดกับ # ด้วย) ห้ามเว้นวรรคเลย ก็จะได้ hashtag เรียบร้อย
การใช้ hashtag สามารถใช้ได้ในการโพสต์ข้อความ โพสต์ภาพ โพสต์ทุกสิ่งอย่าง และในแต่ละโพสต์สามารถใส่ hashtag ได้เท่าไหร่ก็ได้ (คิดตามจำนวนตัวอักษรและข้อกำหนดความยาวของ Social Network แต่ละตัว)
ส่วนการใช้งานนั้นก็เพียงแค่ลองค้นหาด้วยคำที่เกี่ยวข้องกับ hashtag ก็จะได้โพสต์หรือรูปภาพที่มี hashtag ตรงกับที่คนอื่นๆ ได้กำหนดไว้
: จะ tag เยอะไปไหน ?
การตั้ง hashtag นั้นสามารถกำหนดเอง อยากจะใส่คีย์เวิร์ดอะไรก็ได้ ซ้ำกับคนอื่นก็ได้ เกี่ยวข้องก็ได้ หรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ดังนั้นเราอาจจะใช้ hashtag เหมือนบันทึกช่วยจำ ว่าเรื่องที่เราโพสต์เกี่ยวข้องกับอะไร แล้วค่อยมาค้นหาภายหลังได้เช่นกัน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการใช้ hashtag ก็คือการใช้พร่ำเพรื่อ เพราะเห็นบางคนโพสต์ด้วยการใช้ hashtag มาเรียงต่อกัน บางอันก็เกี่ยวข้อง บางอันก็ไม่เกี่ยวข้อง บางอันก็ไปพาดพิงกับหัวข้ออื่นๆ ซึ่งทำให้เวลาค้นหาอาจจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นขยะค่อนข้างเยอะ แต่ก็นะ ห้ามกันไม่ได้หรอก เพราะ Social Network เป็นโลกเสรีครับ