ใช้งานโน๊ตบุ๊คให้ปลอดภัย ดูแลป้องกันแบบง่ายๆ ด้วยตัวคุณ

แปลกใจมั้ยที่บางคนหวงแหน Notebook ยิ่งกว่าสิ่งใด ชนิดที่จับก็ไม่ให้ เปิดก็ไม่ได้ เข้าใช้ก็ต้องมีรหัส นั่นก็เพราะว่าโน๊ตบุ๊คค่อนข้างอ่อนไหวกว่าพีซี ยิ่งเดี๋ยวนี้มีขนาดเล็กและบางลง อันตรายที่เป็นภัยคุกคามก็เยอะขึ้น หากไม่ระวังให้ดีอาจสูญเสียได้ทั้งตัวเครื่องและข้อมูล ร้อยทั้งร้อยก็จะบอกว่า ไม่น่าเลย แต่หากว่าเราเตรียมความพร้อม มีความระมัดระวัง แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็ยังพออุ่นใจได้ แต่นั่นหมายถึงว่า คุณต้องรู้จักคำว่า “เตรียมตัว” แต่จะเตรียมอย่างไรบ้างนั้น ต้องมาดูกัน

Protect Notebook-1

มองไว้อย่าให้คลาดสายตา : ฟังดูเหมือนเป็นลูกหลานที่บ้านอย่างไรก็ไม่รู้ ที่ว่าต้องคอยดูไว้ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมานั่งจ้องกันตลอด ถ้าอยู่ในบ้านก็คงต้องดูว่าลูกหลานหรือสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เอาไว้ด้วย เพราะบางครั้งด้วยความซุกซน ก็อาจทำให้โน๊ตบุ๊คเราหล่นเสียหาย เปียกน้ำหรือโดนข่วนขย้ำ ก็อาจทำให้เครื่องบอบช้ำได้ แต่ถ้าเป็นนอกบ้าน อย่างเช่นเอาไปใช้ที่ร้านอาหาร ออฟฟิศอื่น ไซต์งาน ก็คงต้องหมั่นดูเป็นพิเศษ เพราะคลาดสายตาแปปเดียว โน๊ตบุ๊คเราอาจจะไปอยู่ในมือคนอื่นได้ทันที อย่างที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ ที่กล้องวงจรปิดจับได้ มีมือดีใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็ฉกไปได้แล้ว แบบนี้ต้องหมั่นสังเกต

Protect Notebook-2

ล็อคไว้ให้แน่นหนา : หลายคนอาจจะถามว่า ถึงขนาดต้องล็อคเลยหรือ? คำตอบคือ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำครับ ไม่อย่างนั้น Notebook จะยังมีช่องใส่ตัวล็อคด้านข้างมาทำไมจริงมั้ย เพราะในบางกรณีบางสถานที่ ติดตั้งตัวล็อคไว้กับโต๊ะน่าจะปลอดภัยยิ่งขึ้น เลือกสายล็อคดีๆ มีรหัสสักเส้นติดตัวเอาไว้ ถึงเวลาใช้ก็แค่ต่อเข้ากับเครื่อง ก็เหมือนกับเราใช้รถ แม้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ป้องกันได้เต็มร้อย แต่ก็ถ่วงเวลาได้พอสมควร อย่างน้อยก็อุ่นใจ ในช่วงที่ไม่ได้อยู่ใกล้โน๊ตบุ๊คเรานั่นเอง

Protect Notebook-3

ตั้งพาสส์เวิร์ดให้มีประสิทธิภาพ : อันนี้เป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต้องทำเป็นอันดับต้นๆ เพราะส่งผลดีในกรณีที่ไม่อยู่ที่โต๊ะหรือลุกไปเข้าห้องน้ำ จะได้ไม่มีใครมายุ่มย่ามกับ Notebook เรา บางครั้งไม่อาจรู้ได้ว่าจุดประสงค์ดีหรือหวังร้าย การเปิดเครื่องคุณและเข้าถึงระบบต่างๆ ได้ง่าย เป็นเรื่องที่อันตรายพอสมควร การตั้งพาสเวิร์ดมีกฏง่ายๆ ไม่กี่ข้อ ตั้งด้วยอักขระไม่น้อยกว่า 8 ตัว เป็นคำผสมพยัญชนะ ตัวเลข และอักขระพิเศษรวมกัน ที่สำคัญคือ อย่าให้อ่านเป็นคำได้หรือมีความหมายเท่านั้นก็พอ

Protect Notebook-4

ใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบอื่นเพิ่มด้วย : การใช้ระบบป้องกัน ด้วยการยืนยันตัวตนนอกเหนือจากการใช้พาสเวิร์ดในการเข้าถึง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเข้าถึงข้อมูลถภายใน Notebook  อย่างน้อยหากถูกฉกโน๊ตบุ๊คไป ก็พออุ่นใจได้ว่าบรรดาธุรกรรมออนไลน์ที่คุณใช้งานอยู่จะไม่สามารถเปิดมาใช้ได้ทันทีหรือมีความเสี่ยงที่ต่ำนั่นเอง ปัจจุบันการป้องกันที่ยังพอมีให้เห็นกันอยู่ก็คือ ระบบ Fingerprint scan หรือสแกนลายนิ้วมือก่อนเข้าใช้งาน ก็เป็นอีกทางเลืกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

Protect Notebook-7

 

สำรองข้อมูลเอาไว้ สบายใจกว่า : แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเครื่องจะหายหรือเกิดสิ่งใดขึ้นก็ตาม การสำรองข้อมูลของ Notebook เอาไว้ เป็นทางเดียวที่จะช่วยให้คุณกลับมาสู่สภาพปกติได้เร็วที่สุด เพราะบางครั้งการที่โน๊ตบุ๊คหาย ยังไม่เสียดายเท่ากับไฟล์งานที่เก็บไว้จะทำใหม่ต้องเสียเวลาอีกมากมายหรือไม่เหมือนเดิม รูปถ่ายความทรงจำ งานโปรเจกท์ที่กำลังเสนอเพื่อจบ สิ่งเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่าตัวเครื่องที่เราแค่เดินไปซื้อที่ร้านมาก็ใช้งานได้แล้ว ดังนั้น Backup Data เสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีโอกาสอีกครั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่คุณสามารถทำได้ทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงไปได้มากทีเดียว ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วิจารณญาณของคุณเอง ว่าจะใส่ใจต่อโน๊ตบุ๊คของคุณมากเพียงใด

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here