เมื่อหลายวันก่อนในที่ประชุมสภา มีข่าวฮือฮาว่า สส.ท่านหนึ่งแฉปฏบัติการ IO ที่คอยสร้างยุยงให้คนเกลียดโดยอาศัยการสร้างข่าวปลอมและเผยแพร่ผ่านบัญชีปลอม โดยเรียกว่าสั้น ๆ อวาตา facebook
ก่อนจะเข้าเรื่อง Techhub ขอออกตัวก่อน เราไม่มีความเห็นใด ๆ ต่อการเมืองนะค้าบ เพราะเราเป็นเว็บเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ตัวผมมีจุดมุ่งหมายที่ตั้งใจจะให้ผู้อ่านเข้าใจรูปแบบของ Fake News และไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากใครอยากอ่านบทความ Fake News ก่อนหน้า คลิ๊ก ที่นี่
ทำความเข้าใจ IO แบบง่าย ๆ : Information Operation หรือ IO ถูกคิดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เป็นปฎิบัติการทางข้อมูลสารที่ใช้ในระบบทหาร ซึ่งเป็นการสนธิการปฏิบัติต่างๆ เพื่อทำให้มีอิทธิพล ทำลาย ลดประสิทธิภาพ ในการตัดสินใจและการปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งดำเนินการป้องกันการกระทำของฝ่ายตรงข้ามต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน
ทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าคนที่โพสต์ปลุกปั่น ยุยง และส่งเสริมข้อมูลข่าวสารใน Facebook นั้นเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งก็ดูง่าย ๆ จากโปรไฟล์ โดยในยุคที่กฎหมายเข้มและรุนแรง หากใครสร้าง Fake News จะมีบทลงโทษที่ทำเอาจุกใช่เล่น ฉะนั้น บัญชีที่จะสร้างข่าวลวงขึ้นมามักจะไม่สามารถหาตัวตนได้ เพราะกว่าจะสืบรู้ก็มักใช้เวลาหลายวัน หรืออาจจะสืบไม่ได้เลย
มาลองดูกันครับ ว่า อวาตา facebook ที่ชอบยุยง ปลุกปั่น หรือสร้างกระแสลบให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หน้าตาเป็นยังไง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ IO ด้วย
- รูปโปรไฟล์หน้าตาดี : ส่วนใหญ่มักใช้รูปโปรไฟล์เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายหน้าตาดี หรือแม้กระทั่งดารา เพื่อหลอกให้อีกหลายคนเชื่อ และมีโอกาสที่หลายคนจะกดรับเป็นเพื่อน
- มีรูปภาพไม่มาก : มักไม่นิยมโพสต์รูป เพราะบัญชีถูกสร้างมาแค่ให้เพียงพอต่อการที่จะหลอกคนอื่นว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ
- อาจมีประวัติแปลกๆ : ถ้าตรวจดูประวัติของคนที่มาขอเป็นเพื่อนแล้วพบว่ามีประวัติเพียงเล็กน้อย หรือหวือหวาอลังการงานสร้างไปเลย ให้สงสัยไว้เลยว่าอาจจะไม่ใช่ชื่อบัญชี Facebook จริง
- หน้า Wall เงียบเหงา : ถ้าพบว่าหน้า Wall ของคน ๆ นั้นไม่มีกิจกรรมหรือโพสต์อะไรเลย มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นบัญชีปลอม
- มีการตระเตรียม “ชุดข้อมูล” ที่เตรียมไฟว้กับผู้โพสมาแปะเป็นซีรีส์ แลดูมีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นลิงก์ข่าว คลิป บทความ โคว้ทคำพูด บลาบลา แต่พอถามถึงความคิดเห็นของตัวเองจริงๆ ต่อกรณีที่ถกกันกลับไม่ยอมตอบ หรือไม่ก็บ่ายเบี่ยงไปพูดเรื่องอื่น
- เข้ามาโพสแต่ในกระทู้ร้อนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กำลังเป็นกระแสสังคม โดยใช้คีย์เวิร์ดที่โดนใจเป้าหมาย
- ใช้ตรรกะวิบัติต่างๆ นานา ตามสคริปท์ที่ได้รับ
- พอเป็นสคริปท์แบบเดียว ไม่วาจะหลายบุคลิกก็มากันแนวเดียว ฉะนั้นยิ่ง IO แห่กันมากระทู้เดียว ยิ่งมีโอกาสหน้ากากหลุดให้คนเห็นว่า พวกนี้มัน IO
- เวลาถูกรุกให้อธิบายและแจกแจงเหตุผลให้ชัด อาจจะเลี่ยงหัวข้อและไปใช้ตรรกะวิบัติต่างๆ หรือไม่งั้นก็หายเข้ากลีบเมฆ ไม่ยอมตอบอะไรอีก
เราควรให้ค่า อวาตา facebook แค่ไหน
ผมว่าหลายคนรู้คำตอบของตัวเองนะ ว่าเราไม่ควรให้ค่าอวาตาปลอมพวกนี้ แต่บางครั้ง หากเขาโพสต์เกี่ยวกับสิ่งที่โดนใจ หรือตรงใจเรา เราก็มักกดถูกใจไปโดยไม่รู้ตัว (บางทีอาจแชร์ด้วยนะ) และบางคนอาจเฮโลไปตาม โดยไม่ได้สำรวจที่มาของข้อมูลหรือสำรวจโปรไฟล์ของผู้โพสต์ (ก็มันโดนใจอ่ะ) ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เสพแต่ข่าวปลอม หรืออยู่ในกลุ่มนี้นาน ๆ จะกลายเป็นการล้างสมอง ทำให้ความปลอม กลายเป็นเรื่องจริงสำหรับเขาขึ้นมา
แต่ผมก็ยังคาดหวังนะ อยากให้ทุกคนพิจารณาข้อมูลที่เห็นผ่านเหตุผลและจักรยาน เอ้ย!! วิจารณาญาณ เพราะมันจะทำให้คุณเสพข่าวบนโลกออนไลน์ได้ปลอดภัยขึ้น