สำหรับการค้นหาข้อมูลหรือไฟล์ต่างๆ ภายในเครื่อง Mac ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ OS X นั้น สามารถทำได้โดยง่าย ด้วยการใช้เครื่องมือค้นหาที่มีชื่อว่า Spotlight ที่จัดได้ว่าเครื่องมือนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ OS X ทีเดียว ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาไฟล์ในเครื่องได้อย่างรวดเร็ว โดยถ้าให้เทียบกับการค้นหาไฟล์ระหว่างระบบปฏิบัติการ Windows และ OS X แล้ว Spotlight ใน OS X ถือว่าได้เปรียบอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ สามารถค้นหาได้รวดเร็ว แม่นยำ ใช้งานง่าย อีกทั้งยังสามารถค้นหาข้อมูลลงลึกได้ภายในไฟล์นั้นๆ และสามารถกำหนดเงื่อนไขในการค้นหาได้หลากหลาย โดยสามารถระบุประเภทไฟล์ที่ต้องการค้นหา เช่น ไฟล์ภาพ ไฟล์เพลง ไฟล์วีดีโอ ไฟล์เอกสาร อีเมล์ ตารางนัดหมาย ฯลฯ เป็นต้น รวมไปถึงยังสามารถใช้ค้นหาไฟล์หรือข้อมูลแบบออนไลน์ได้อีกด้วย
ซึ่งในส่วนของการใช้งาน Spotlight สามารถทำได้ง่ายๆ ต่อไปนี้
1. คลิกที่ไอคอนรูปแว่นขยายที่อยู่มุมขวาบนสุดของหน้าจอ Desktop
2. จะปรากฏหน้าต่าง Spotlight Search Box ขึ้นมา
3. กรอกข้อความหรือชื่อไฟล์ที่ต้องการค้นหาลงไป
4. จะพบกับไฟล์หรือโฟลเดอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วทันใจ (พร้อมพรีวิว) ซึ่งตัว Spotlight จะมีการแสดงผลลัพธ์เป็นหมวดหมู่ชัดเจน เช่น กลุ่มไฟล์ภาพ กลุ่มไฟล์เอกสาร รวมไปถึงสามารถค้นหาไฟล์หรือข้อมูลแบบออนไลน์และโปรแกรมภายในเครื่องได้จากตรงนี้อีกด้วย
5. คลิกเลือกไปยังไฟล์หรือข้อมูลที่ต้องการ
6. กรณีที่ไม่พบสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการค้นหา ให้คลิกเลือกไปที่ Show All เพื่อให้ระบบแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องออกมาทั้งหมด
สิ่งที่พิเศษของ Spotlight อีกหนึ่งอย่างก็คือ สามารถค้นหาข้อมูลที่อยู่ในไฟล์ได้ด้วย เรียกว่า Meta Data ซึ่งจัดได้ว่าเป็นคุณสมบัติของไฟล์ อาทิเช่น ชื่อคนสร้างไฟล์ เวลาที่สร้างไฟล์นี้ ขนาดของไฟล์นี้ หรือถ้าเป็นกรณีไฟล์ภาพถ่ายก็จะทราบถึงยี่ห้อกล้องที่ใช้ และการตั้งค่าต่างๆ ด้วย รวมไปถึงถ้าเป็นไฟล์เอกสารก็สามารถค้นหาประโยคหรือคำภายในไฟล์ได้ เป็นต้น
ยกตัวอย่างการใช้งานง่ายๆ ก็คือ ภายในช่องค้นหาของ Spotlight เราสามารถระบุคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงลงไปได้เลย เช่น
• Height: 600 การเลือกค้นหาไฟล์ภาพที่มีขนาดแนวตั้งที่ 600 พิกเซล
นอกเหนือจากนั้นเรายังสามารถใช้เครื่องมือ Spotlight ในการคำนวณตัวเลขอย่างง่ายๆ อีกด้วย โดยการกรอกตัวเลขพร้อมกับเครื่องหมายบวกลบคูณหารลงไป หรือยกกำลังก็ได้ ในช่อง Spotlight ซึ่งผลลัพธ์ก็จะปรากฏขึ้นมาทันที
อีกทั้งเรายังสามารถใช้ Spotlight ในการแปลความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษได้ ด้วยการกรอกคำศัพท์ที่ต้องการลงไปในช่อง Spotlight จากนั้นในคลิกเลือกไปที่ Look Up ความหมายของศัพท์ที่เราต้องการจะปรากฏขึ้นมาทันทีเช่นกัน