คุ้มจริงหรือ Dyson Digital Slim Fluffy ดูดแรง แลกสองหมื่น ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นแค่ไหน

จากไม้กวาดสู่เครื่องดูดฝุ่น จากเครื่องดูดฝุ่น ‘สู่เครื่องดูดฝุ่นที่เป็นมากกว่า’ มากกว่ายังไง คือแต่เดิมเครื่องดูดฝุ่นที่เคยใช้ ๆ กัน จะเป็นเพียงเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องเสียบปลั๊กทุกครั้งที่ใช้งาน และมักมีเพียงหน้าที่เดียว แต่เครื่องดูดฝุ่นในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเสียบปลั๊กไฟทุกครั้งยามใช้งานอีกต่อไป ทั้งมีแบตฯ ในตัวและเสียบชาร์จได้เหมือนพวกโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟน 

วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ใช้งานเจ้า Dyson Digital Slim Fluffy เครื่องดูดฝุ่นสุดไฮโซรุ่นใหม่ ซึ่งมีเปิดตัวมาแล้วหลายรุ่น ส่วนรุ่นนี้ก็มาพร้อมขนาดเบาถือง่ายยิ่งขึ้น พลังดูดแรง เก็บกวาดฝุ่นขนาดเล็กได้หมด แต่มีราคาหลักหมื่นเช่นเคย โดยจะเป็นประเด็นหลักที่จะมาพูดถึงในบทความนี้เอง มาดูกันว่าเครื่องดูดฝุ่นจาก Dyson นี้ จะใช้งานได้คุ้มค่าตัวขนาดไหน และสำคัญเลยคือ “ช่วยให้รู้สึกอยากความสะอาดบ้านมากกว่าเดิมไหม” ด้วยครับ

รู้จักกับเครื่องดูดฝุ่น Dyson สักเล็กน้อย

ว่าด้วยเรื่องของแบรนด์ Dyson ซักหน่อย แบรนด์นี้ก่อตั้งโดย Sir James Dyson ซึ่งแต่เดิมเคยรู้สึกไม่พอใจเครื่องดูดฝุ่นทั่ว ๆ ไปว่า “ทำไมถึงพังเร็ว” ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อมการใช้งาน สุดท้ายก็รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะถุงเก็บฝุ่นนั้นเอง ตั้งแต่นั้นมา ‘เครื่องดูดฝุ่นที่ไร้ถุงเก็บฝุ่น’ จึงถือกำเนิดขึ้น และจากต้นแบบถึง 5,127 ชิ้น ที่พยายามพัฒนามากันเลย นับแต่นั้นเครื่องดูดฝุ่น Dyson ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก มีพัฒนามาเป็นสิบ ๆ รุ่น จนล่าสุดกลายเป็นเครื่องดูดฝุ่นที่ถูกยอมรับไปทั่วโลก

ฟีเจอร์เด่น Dyson Digital Slim Fluffy

  • ขนาดเล็กลง : และน้ำหนักเบากว่าเดิมถึง 30% แค่ 1.9 กิโลกรัม หรือแค่ 3 กิโลกรัมสำหรับแบบมือถือ (ไม่ต่อท่อดูด) ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น ไม่ต้องออกแรงเยอะ
  • แบตเตอรี่ถอดได้ ใช้ง่ายไปอีกขั้น : ชาร์จไฟ 3.5 ชั่วโมง ใช้งานได้ 40 นาทีในโหมดประหยัดพลังงาน
  • จิ๋วแค่ไหนก็ไม่รอด : ไซโคลน 11 ชั้น ออกแบบมาเพื่อสร้างแรงเหวี่ยงกำจัดฝุ่นและสิ่งสกปรกได้อยู่หมัด ด้วยแผ่นกรองคาร์บอน
  • แรงไม่แผ่ว : มอเตอร์ Hyperdymium พลังจัดเต็ม ช่วยสร้างกระแสลมได้แบบต่อเนื่อง
  • เทคโนโลยีและระบบกรองที่ดีต่อสุขลักษณะและป้องกันการเกิดภูมิแพ้ : มีระบบกรองที่ดักจับอนุภาคเล็กถึง 1/5000 ของหัวเข็มหมุด และพลังการดูดที่แรงคงที่ตลอดการใช้งานที่สามารถดูดสิ่งสกปรกเข้าไปอยู่ในถังเก็บฝุ่น และปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมา รวมถึงการทิ้งฝุ่นออกจากทั้งเก็บได้โดยไม่ต้องสัมผัสสิ่งสกปรกในถังโดยตรง
  • หัวต่อหลากหลาย : เหมาะกับการใช้งานแบบเฉพาะกิจ Mini Motorised Tool, Light Pipe Crevice Tool, ตัว Wand Clip ใช้งานง่ายแม้ในที่แคบ

สัมผัสการใช้งานแรก

ต้องยอมรับว่า “เครื่องดูดฝุ่น Dyson มีราคาแรงใช่เล่น” อย่างเจ้า Dyson Digital Slim Fluffy ที่กำลังพูดถึงนี้ มีราคาอยู่ที่ 19,900 บาทกันเลย ฉะนั้นลองมาดูการใช้งานแบบเน้น ๆ ไปเลยว่าใช้ดีจริงไหม

อย่างแรกดีไซน์ หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า “นี่เครื่องดูดฝุ่นหรือปืนอวกาศ” เอาจริง ๆ ส่วนตัวค่อนข้างหยี้พวกไม้กวาด ไม้ถูพื้น หรือเครื่องดูดฝุ่นแบบก่อนมาก คือแค่จับก็รู้สึกขี้เกียจแล้ว แต่ตัวเครื่องดูดฝุ่น Dyson รุ่นนี้ ถือแล้วกลับรู้สึกสนุกซะงั้น จินตนาการว่ากำลังถืออาวุธไปปราบฝุ่นภายในบ้าน ซึ่งก็ทำให้รู้สึกอยากทำความสะอาดบ้านเพิ่มขึ้นได้อย่างน่าแปลก

แต่บางวันว่าง ๆ ก็แอบหยิบมากดเล่น…

ความสนุกต่อมาคือ การใส่แบตฯ ที่เหมือนกกำลังใส่ซองกระสุน คือตัว Dyson Digital Slim Fluffy (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า Dyson Digital Slim) สามารถถอดแบตฯ ออกมาชาร์จแยกต่างหากได้ โดยจะชาร์จขณะใส่ไว้ในตัวเครื่อง หรือนอกตัวเครื่องก็ได้เช่นกัน ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟที่ 3.5 ชั่วโมง แต่น่าเสียดายที่ยังดูดไปชาร์จไปไม่ได้เหมือนรุ่นก่อน ๆ เว้นถ้าซื้อตัวแบตฯ มาสำรองอีกก้อนซะเลย (ในราคาเกือบ ๆ ห้าพัน) ก็ใช้งานต่อเนื่องได้แล้วครับ : D

ตอนนี้เราคงทราบแล้วว่า Dyson Digital Slim Fluffy เป็นเครื่องดูดฝุ่นไร้สาย สามารถถือไปดูดฝุ่นได้ทันทีโดยไม่ต้องหาปลั๊ก ฉะนั้นลองมาดูฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่าง การปรับความแรงในการดูดได้ 3 ระดับ อาทิ

  • Eco ดูดฝุ่นเล็ก ๆ แบบประหยัดพลังงาน ใช้งานได้สูงสุดนาน 40 นาที
  • Med ดูดฝุ่นพวกฝุ่นทั่ว ๆ ไป แบบแรงกำลังดี ใช้งานได้ประมาณ 20 นาที
  • Boost ดูดฝุ่นฝังลึก ที่ปกติดูดออกยาก ความแรงจัดเต็ม เช่น ทำความสะอาดบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นหลังจากรีโนเวต หรือดูดเบาะที่นอนเพื่อดึงเอาไรฝุ่นที่ฝังอยู่ในฟูกออกมา แลกกับใช้งานได้เพียง 10 นาที

จากที่ลองใช้งาน ก็ได้ระยะเวลาในแต่ละโหมดประมาณนี้ เอาตรง ๆ ใครที่บ้านมีพื้นที่กว้างขวาง ก็เตรียมหาแบตฯ สำรองไว้เลย หรือเน้นใช้งานในโหมด Eco เป็นหลัก หากต้องการใช้นาน ๆ แทน แต่แอบชอบโหมด Boost นะ ดูดได้แรงซะใจมาก ๆ แต่กินแบตฯ เยอะไปหน่อย

อนึ่งตัวหน้าจอด้านหลังนี้ สามารถบอกสถานะตัวเครื่องได้ด้วย เช่น แจ้งการชาร์จแบตฯ แบตฯ ใกล้หมด และระยะเวลาแบตฯ ที่ใช้งานได้เป็นตัวเลข จุดนี้ช่วยให้วางแผนตอนใช้งานได้ดีเลยครับ

อนึ่ง หน้าจอแจ้งแสดงสามารถปรับเป็นภาษาไทยได้ด้วย

หากเทียบกับตัวรุ่นพี่อย่าง Dyson V11 จะพบว่าตัว Dyson Slim Fluffy มีน้ำหนักเบากว่า สมชื่อรุ่น Slim จริง ๆ ถึงอย่างนั้นก็มีน้ำหนักประมาณ 1.90 กก. ก็ไม่เบาซะทีเดียว แต่ยังดีกว่า Dyson V11™ ที่หนักถึง 2.95 กก.

จุดสำคัญของเครื่องดูดฝุ่น Dyson ทุกรุ่นเลยคือ ไม่มีถุงเก็บฝุ่น ทำให้ได้ตัวเครื่องที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และสำคัญคือ สามารถเทฝุ่นออกจากตัวเครื่องได้ทันทีง่าย ๆ ไม่ต้องแกะถุงออกหรือคอยเปลี่ยนถุงใหม่ให้วุ่นวาย ทั้งนี้ตัว Dyson Digital Slim ก็มีระบบการกรอง 5 ชั้นทั่วทั้งเครื่อง ช่วยให้ที่ดักจับฝุ่นที่ดูดเข้าไปไว้ในถังเก็บได้ดี และช่วยให้ไม่มีฝุ่นเล็ดลอดกลับออกมานั้นเอง แต่ก็ขอบ่นนิด ๆ ตัวถังเก็บมีขนาดค่อนข้างเล็ก ใช้สักพักก็ต้องเทฝุ่นออกแล้ว

สารพัดหัวดูด

จุดเด่นของเครื่องดูดฝุ่น Dyson ที่มีมานานคือ “สารพัดหัวดูด” ซื้อตัวเดียวจบ (บวกราคาเรียบร้อย) ปกติในบ้านของทุก ๆ คน มักจะมีมุมอับที่เครื่องดูดฝุ่นปกติเข้าไม่ถึง แต่ Dyson มีหัวดูดหลากหลาย ทำให้เข้าถึงจุดที่ดูดฝุ่นยาก ๆ ได้อย่างง่ายดาย ลองมาดูหัวดูดแต่ละชนิดของ Dyson Digital Slim Fluffy นี้กัน ว่าแต่ละตัวทำอะไรได้บ้าง

หัวดูดลูกกลิ้ง Slim Fluffy Cleaner Head

เป็นหัวดูดแบบคลาสสิค ใช้งานได้ดีสำหรับพื้นแข็ง ซึ่งน่าจะเป็นหัวดูที่ใช้งานบ่อยสุดแน่ ๆ ข้อดีอย่างหนึ่งของหัวดูนี้คือ มีลูกกลิ้งพร้อมขนแปลงช่วยดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (ช่วยให้ฝุ่นเกาะ) อารมณ์เหมือนดูดฝุ่นไปด้วย พร้อมกับกวาดพื้นไปด้วยกันเลย ทั้งนี้ตัวหัวดูดยังมีมอเตอร์ในตัวด้วย ทำให้มีแรงในการช่วยกวาดพื้นและลากฝุ่นขึ้นไปได้ดีเพิ่มขึ้นอีก

หัวดูดปากแคบ Light pipe crevice tool

เป็นหัวดูดที่เอาไว้ดูดฝุ่นต้องจุดเฉพาะ ไว้ดูดต้องซอกหรือร่องต่าง ๆ ภายในห้อง ซึ่งปกติทำความสะอาดได้ยากนั้นเอง

หัวดูดนี้ยิงแสงได้ด้วย เอาไว้ส่องจุดที่เป็นมุมอับซึ่งไฟบ้านส่องไม่ถึงก็ได้

หัวดูด 2-in-1 Combination tool

อีกหนึ่งหัวดูดสารพัดประโยชน์ สามารถใช้ส่วนที่เป็นแปรงปัดฝุ่นได้ หรือเก็บตัวแปลงแล้วหรือเปล่าส่วนที่เป็นหัวดูดเพียว ๆ ก็ได้ ส่วนตัวชอบใช้ตัวหัวดูดนี้ดูดฝุ่นบนโต๊ะคอมฯ หรือเอาส่วนที่มีขนแปรงไปช่วยปัดฝุ่นตัวเครื่อง PC ออกด้วย หรือบางวันเอาไปดูดพวกหยากไย่บนเพดานก็ถือดูดได้สบายมาก

หัวดูดมอเตอร์ขนาดเล็ก Mini Motorised tool

เหมือนเอา Slim Fluffy Cleaner Head มาย่อส่วน เผื่อเอาไว้แยกดูดทำความสะอาดเบาะที่นอนหมอนโซฟาก็ได้ ที่อาจเก็บไรฝุ่นเล็ก ๆ  ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งตัวหัวดูดนี้ก็มีมอเตอร์ในตัวด้วยเช่นกัน

เบื้องหลังเทคโนโลยี

หัวใจสำคัญของ Dyson Slim Fluffy นี้เลยคือ มอเตอร์ Dyson Hyperdymium ขนาดเล็กเบา แต่ทรงพลัง สามารถหมุนด้วยความเร็วสูงสุด 120,000 รอบต่อนาที สร้างแรงดูดอากาศได้ถึง 100 แอร์วัตต์ อีกทั้งยังมีกลไกทำงานแบบไซโคลน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของทาง Dyson ช่วยเพิ่มกำลังในการดูดฝุ่นขึ้นไปอีก

ปิดท้ายด้วยระบบกรองอากาศ 5 ชั้นตรงปลายหรือส่วนท้ายเครื่อง โดยจะคอยดักจับฝุ่นในอากาศไปพร้อม ๆ กับการดูดฝุ่น คือจริง ๆ ทาง Dyson จะทำเป็นช่องดูดลมเฉย ๆ ก็ได้ แต่เดี๋ยวไม่พรี่เมี่ยม ทำเป็นตัวกรองฝุ่นด้วยซะเลย และยังสามารถถอดตัวกรองนี้ออกมาล้างได้ เพื่อคงประสิทธิภาพการใช้งาน

โดยตัวระบบกรองฝุ่นดังกล่าว ก็สามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กระดับ 1/5000 ของหัวเข็มหมุดได้เลย และมีพลังการดูดที่แรงคงที่ตลอดการใช้งาน ที่สามารถดูดสิ่งสกปรกเข้าไปอยู่ในถังเก็บฝุ่น พร้อมกลับปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมา รวมถึงการทิ้งฝุ่นออกจากทั้งเก็บได้โดยไม่ต้องสัมผัสสิ่งสกปรกในถังโดยตรง

ตัว Dyson Digital Slim Fluffy มีอายุการใช้งานพอตัว ส่วนตัวใช้งานทุกวันมากว่า 6 เดือน ตัวเครื่องก็ยังดูดได้แรง แบตฯ ไม่เสื่อม และไม่อายุสั้นเหมือนเครื่องดูดฝุ่นทั่วไป Sir James Dyson ถูกใจสิ่งนี้

ความคุ้มค่า

อย่างที่ทราบกันไปว่า ค่าตัวของ Dyson Digital Slim ก็อยู่เกือบ ๆ สองหมื่นบาท ถือเป็นราคาที่สูงอยู่เหมือนกัน แต่จากที่ลองใช้งานมาพักใหญ่ และหลาย ๆ คนน่าจะได้เห็นแล้วว่า ของพรี่เมี่ยมก็คือของพรี่เมี่ยม คือเป็นราคาที่จ่ายให้กับคุณภาพล้วน ๆ เลย

และนอกจากคุณภาพแล้ว ยังมีเรื่องของความสะดวกในการใช้งาน จุดนี้คือส่วนที่ทำให้หลาย ๆ คน เชื่อเลยว่า ‘ยอมจ่าย’ อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น ผมไม่ค่อยทำความสะอาดห้องนัก (เพราะขึ้เกียจ…) แต่ก็ต้องยอมใจเวลาใช้งานตัว Dyson Digital Slim Fluffy นี้ เพราะมันช่วยให้การทำงานบ้านที่เคยน่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องสนุกทันที

อีกทั้งด้วยการใช้งานแบบไร้สาย ก็ทำให้หยิบออกมาใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่ต้องลากสายแล้วหาปลั๊กเสียบให้เหนื่อย กับมีไม้ตายอย่าง หัวดูดหลากชนิด ทำให้ใช้ดูดฝุ่นได้หลากหลายขึ้น จุดเล็ก จุดใหญ่ได้หมด (ส่วนที่ทำให้มีราคาโดยแท้)

สำหรับข้อสังเกต ก็อย่างที่บ่น ๆ ไปเลยคือ แบตฯ ใช้งานได้จำกัด สูงสุด 40 นาทีในโหมด Eco และเสียบไปชาร์จไปไม่ได้ อาจต้องมีการวางแผนซักหน่อยหากจะใช้งานเป็นเวลานาน ๆ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรให้บ่น ของดีจริง ส่วนราคาก็ตามนี้เลย แต่ผมมองว่าคุ้มนะ เพราะมันช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผมเป็นคนรักความสะอาดมากขึ้นได้ด้วยนั้นเอง

หากใครสนใจ ตามไปสอยโดยพลันได้ที่ https://bit.ly/3u3LHwL